กรุงเทพฯ 6 มิ.ย. – บี.กริม เพาเวอร์ เตรียมพื้นที่พร้อมร่วมแข่งขัน SPP Hybrid และขยายการลงทุนในอาเซียนตั้งเป้าหมาย 5 พันเมกะวัตต์ พร้อมนำหุ้นซื้อขายใน ตลท.วันแรก 19 ก.ค.นี้
จากกรณีภาครัฐเตรียมเปิดให้ยื่นให้ผลิตไฟฟ้าพลังงานทดแทนแบบผสมผสาน หรือ SPP Hybrid 300 เมกะวัตต์ ด้วยเงินอุดหนุน FIT 3.66 บาท/หน่วย นางปรียนาถ สุนทรวาทะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทเตรียมพร้อมเข้าร่วมประมูลโดยเตรียมพื้นที่หลายแห่งรอเพียงภาครัฐประกาศออกมาเท่านั้น โดยจากความร่วมมือกับ China Energy Engineering Corporation (CEEC) ยักษ์ใหญ่ผู้ผลิตไฟฟ้ากับจีน ทำให้ต้นทุนติดตั้งผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบ Hybrid ได้ต่ำ ขณะเดียวกันจากที่บริษัทยื่นผลิตไฟฟ้าร่วมผลิตไฟฟ้าโซลาร์ราชการกับองค์การทหารผ่านศึกฯ ขณะนี้มีความชัดเจนว่าได้แล้ว 25 เมกะวัตต์ เพราะอยู่ในพื้นที่เขตไฟฟ้านครหลวงที่ไม่มีรายอื่นแข่งขันและรอลุ้นจับสลาก โดยคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) อีกประมาณ 10 เมกะวัตต์
“บริษัทยังเตรียมพร้อมจะลงทุนโซลาร์รูฟท็อปติดตั้งบนหลังคาในโรงงานที่เป็นลูกค้าของบริษัท นับเป็นการขยายงานและรองรับเทคโนโลยีใหม่ที่ผลิตไฟฟ้าใช้เองลดช่วงความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (พีก) มากขึ้น โดยจะซื้อเทคโนโลนี ENERGY STORAGE มาให้บริการแก่ลูกค้าอีกด้วย” นางปรียนาถ กล่าว
ปัจจุบันบริษัทผลิตไฟฟ้าปีนี้ 30 โครงการ 1,646 เมกะวัตต์ ทั้งในไทย เวียดนาม ลาว และกัมพูชา โดยมีโครงการลงนามในสัญญาแล้วถึงใน 5 ปีข้างหน้า รวมเป็น 2,357 เมกะวัตต์ จำนวน 43 โครงการ เงินลงทุน 55,000 ล้านบาท เงินลงทุนส่วนหนึ่งมาจากการกระจายหุ้น โดยบริษัทเตรียมระดมทุนเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนเป็นครั้งแรก หรือไอพีโอ กำหนดวันซื้อขายหุ้นวันที่ 19 กรกฎาคมนี้คาดได้เม็ดเงินประมาณกว่า 10,000 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้กองทุนต่างประเทศให้ความสนใจ โดยธนาคารพัฒนาแห่งเอเชีย (เอดีบี) จะเข้ามาลงทุน 75 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือร้อยละ 5 ของจำนวนเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนที่ 716,900,000 หุ้น ซึ่งเงินส่วนนี้นอกจากจะนำไปลงทุนใหม่แล้วยังไปใช้หนี้เดิมทั้งการกู้จากสถาบันการเงินและหนี้จากการออกบอน์ดรวมแล้ว 9,000 ล้านบาท จากวงหนี้ที่มีรวม 35,000 ล้านบาท โดยส่วนที่เหลือจะทยอยอออกหุ้นกู้นับจากนี้ไปอีก 3-5 ปี
“การทยอยออกหุ้นกู้เมื่อเดือนเมษายน 2560 วงเงิน 11,500 ล้านบาท ทำให้ลดต้นทุนดอกเบี้ยจ่ายอย่างมหาศาล หากคิดเฉพาะดอกเบี้ยจ่ายปีแรกตามระยะเวลาของหุ้นกู้ อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยอยู่เพียงร้อยละ 3.76 ต่อปี ซึ่งเป็นการประหยัดดอกเบี้ยจ่ายของโรงไฟฟ้า 3 โรงนี้เกือบร้อยละ 2 หนี้ต่อทุนของบริษัทก็ลดลง ดังนั้น จะทยอยออกหุ้นกู้เพื่อลดภาระดอกเบี้ยต่อไป ส่วนการเตรียมออกไอพีโอ ขณะนี้นักลงทุนให้ความสนใจ บริษัทจะแบ่งสัดส่วนเป็นนักลงทุนสถาบันและต่างประเทศร้อยละ 50 ผู้มีอุปการะคุณร้อยละ 10 และร้อยละ 40 จะเป็นรายย่อย ” นางปรียนาถ กล่าว
นางปรียนาถ กล่าวว่า บริษัทฯ ยังเดินตามแผนขยายการลงทุนให้ไปสู่เป้าหมาย 5,000 เมกะวัตต์ในอนาคต โดยภาพรวมโครงการที่อยู่ระหว่างเจรจาทั้งในไทยและอาเซียนก็ใกล้เคียงเป้าหมาย เช่น โครงการใน สปป.ลาว เวียดนาม การเป็นพันธมิตรทางธุรกิจกับ Poipet PPSEZ ซึ่งดำเนินธุรกิจพัฒนาและบริหารจัดการเขตอุตสาหกรรม เขตเศรษฐกิจพิเศษปอยเปตในประเทศกัมพูชา ลงนามข้อตกลงพลังงานแสงอาทิตน์ในมาเลเซีย ส่วนโครงการ SPP ใหม่และโครงการ SPP ทดแทนโรงเดิมที่จะสร้างรวม 5 แห่ง โรงละ 140-160 เมกะวัตต์ เงินลงทุนแห่งละประมาณ 6,000 ล้านบาท ในขณะนี้เริ่มเปิดให้เจ้าของเทคโนโลยี เช่น จีอี ซีเมนส์ เริ่มเสนอราคาปรากฏว่าต้นทุนต่ำลง และประสิทธิภาพดีขึ้น
สำหรับผลการดำเนินงานของบริษัทฯ ไตรมาส 1/2560 ว่า บริษัทฯ มีรายได้จากการขายและการให้บริการ7,651 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.8 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน กำไรก่อนดอกเบี้ย ภาษี และค่าเสื่อมราคา (EBITDA) 2,133 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 23.2 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน กำไรสุทธิ 1,098 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.8 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีกำไรสุทธิปรับปรุงส่วนที่เป็นของบริษัทใหญ่จำนวน 421 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.1 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน. – สำนักข่าวไทย