สำนักข่าวไทย 3 มิ.ย.- สาวผู้เสียหายตรวจเชื้อเอชไอวีผิดพลาด ปฎิเสธฟ้องแพ่ง สธ. แต่ขอสอบวินัยร้ายผู้เกี่ยวข้องตรวจผิดพลาด ด้านสธ.เตรียมเยียวยาทั้งด้านจิตใจ และชดเชยความเสียหาย พร้อมหาสาเหตุแม้เกิดนาน 19 ปี
นางสาวสุทธิดา แสงสุมาตร ผู้เสียหายจากการตรวจเชื้อเอชไอวีผิดพลาด กล่าวว่า ในวันจันทร์ที่ 5 มิถุนายนนี้ ตนพร้อมนายสงกานต์ อัจฉริยะทรัพย์ ทนายความ และลูกทั้ง 2 คน จะเดินทางไปกระทรวงสาธารณสุข เพื่อพบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และปลัดกระทรวงสาธารณสุข จากกรณีความผิดพลาดในการตรวจหาเชื้อไวเอชไอวีในร่างกาย ตั้งแต่เด็ก เมื่อ 19 ปี ก่อน ยืนยันยังไม่มีแนวความเรียกร้องค่าเสียหายทางแพ่ง เพียงแต่ต้องการให้กระทรวงสาธารณสุขแสดงความรับผิดชอบ ต่อความผิดพลาดที่เกิด และมีการสอบวินัยร้ายแรงกับผู้ที่เกี่ยวข้องกับความผิดพลาดในเรื่องนี้ ที่ผ่านมาตนไม่เคยเรียกร้องความรับผิดชอบตั้งแต่ปี 2555 หลังจากคลอดบุตรคนที่สอง แล้วเริ่มรู้ว่าตัวเองไม่ได้ติดเชื้อเอชไอวี เพราะเข้าใจว่าทางรพ.ในจังหวัดสมุทรปราการ ที่จ่ายยาให้เราไปในแต่ละเดือนนั้น น่าจะมีการประสานไปยังรพ.ในจังหวัดร้อยเอ็ด ที่เราเคยรับการรักษา และเป็นที่ที่ระบุว่า ตัวเองติดเชื้อเอชไอวีตั้งแต่เด็ก ทั้งนี้หลังจากมีการตรวจเลือดกับทางสภากาชาดไทยแล้ว ทำให้รู้สึกสบายใจกับความจริงที่ปรากฎต่อสาธารณะ ทำให้สังคมคนรอบข้างรับรู้ว่าเราไม่ได้ติดเชื้อ และการตอบรับจากคนรอบข้างก็ดีขึ้น เหมือนมีชีวิตใหม่
นพ.อิทธิพล สูงแข็ง ผอ.ศูนย์สันติวิธีสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า แนวทางการพิจารณาให้ความช่วยเหลือ และเยียวยา ของกระทรวงสาธารณสุข ก่อนอื่น ต้องแสดงความเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อ 19 ปีก่อน และก็ของแสดงความยินดี กับผลการตรวจเลือดที่ศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย ทั้งนี้คงต้องมีการหารือร่วมกัน และตรวจสอบความผิดพลาดที่เกิดขึ้น ว่ามาจากอะไร เทคนิคกระบวนการเลือด หรือ ความผิดพลาดของเจ้าหน้าที่ ทั้งนี้ไม่ได้จะมีการพิจารณาเพื่อลงโทษหรือตำหนิ เพราะเข้าใจว่า ความผิดพลาดเนื่องจากเรื่องนี้เกิดมานาน 19 ปีแล้ว และผู้ปฏิบัติหน้า ก็เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ปฏิบัติหน้าที่ ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐ เทคโนโลยีและเครื่องตรวจเลือดในขณะนั้น เมื่อ 19 ปี ก็ถือว่ามีความทันสมัยที่สุด และดีที่สุด ที่รัฐเป็นผู้จัดหา เพื่อบริการประชาชน ความแม่นยำก็มากถึงร้อยะ 99 อาจมีแค่ร้อยะ1 เท่านั้นที่เกิดผิดพลาด ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข ต้องเป็นผู้รับชอบอยู่แล้ว กระบวนการเยียวยา มีตั้งแต่ ทางวาจาการขอโทษ และการเยียวยาความเสียหาย ด้วยการจ่ายค่าชดเชย ซึ่งต้องดูความสมประโยชน์ อย่างไรก็ตามในอนาคต การตรวจเลือดหาผู้ติดเชื้อเอชไอวีต่อไป จะต้องมีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงให้แม่นยำมากขึ้น นอกจากตรวจคอนเฟิร์ม 2 ครั้งแล้ว อาจต้องมีการส่งเลือดมาตรวจซ้ำกับศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย
นพ.อิทธิพล กล่าวว่า จากการตรวจสอบเวชระเบียนที่ได้จากโรงพยาบาลที่ให้การรักษาทั้ง 2 โรงพยาบาล ในจ.ร้อยเอ็ด และ จ.สมุทรปราการ ก็พบว่ากระบวนการรักษาเป็นไปตามมาตรฐานในขณะนั้น เมื่อ 19 ปีก่อน เนื่องจาก ครอบครัวของนางสาวสุทธิดา มีผู้ติดเชื้อเอชไอวี ทั้ง 2 คน ก็ถือว่ามีความเสี่ยงถึงร้อยละ 80 และต่อมาผู้ปกครองได้เสียชีวิตลง ทำให้นางสาวสุทธิดาในวัยเด็ก ต้องมาอยู่ในความดูแลของป้า และผลการตรวจหาระดับภูมิต้านทานร่างกาย หรือ CD 4 ก็พบว่าในขณะนั้นมีค่าต่ำจริง จึงทำให้ตัดสินใจให้ยาต้านไวรัส และหลังจากนั้นก็มีตรวจค่า CD 4 มาตลอดทุกครั้งในการจ่ายยา ก็อาจทำให้ค่า CD 4 สูงขึ้นเท่าเกณฑ์ปกติ .-สำนักข่าวไทย