กรุงเทพฯ 2 มิ.ย. – กยท.โต้ข่าวลือบริษัทยางล้อต่างประเทศไม่รับซื้อยางไม่เป็นความจริง ย้ำยางพาราไทยเป็นที่ต้องการของตลาดโลก
นายธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการ การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เปิดถึงกรณีที่มีกระแสข่าวเรื่องบริษัทยางล้อต่างประเทศจะไม่ซื้อยางแผ่นของไทย เพราะคุณภาพไม่ได้มาตรฐาน ว่า ขอให้เกษตรกรผู้ปลูกยางพาราอย่าตื่นตระหนกกับข่าวดังกล่าว เบื้องต้นตรวจสอบข้อมูลแล้วพบว่าไม่เป็นความจริง เพราะบริษัทฯ ยังเปิดรับซื้อยางจากเกษตรกรตามปกติ แต่ยางของเกษตรกรบางส่วนขาดความยืดหยุ่น ซึ่งเกิดจากกรรมวิธีการผลิตไม่ถูกต้อง เช่น เปิดกรีดขณะยางอ่อน ใช้สารเร่งน้ำยาง ใช้สารจับตัวที่ไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการ หรือการเจือจางน้ำมากเกินไป เนื่องจากเมื่อเริ่มฤดูกาลเปิดกรีดใหม่น้ำยางสดจากการเปิดกรีดครั้งแรก อาจจะมีสารที่ไม่ใช่ยางสูงขึ้นบ้างเล็กน้อยขึ้นกับสภาพต้นยางที่แตกต่างกัน และน้ำยางสดช่วงแรกของการเปิดกรีดมีค่าความอ่อนตัวเริ่มแรก แต่ค่าความหนืดเฉลี่ยมากกว่า 65 ซึ่งยังสูงกว่ามาตรฐานยางแท่งเอสทีอาร์ 20
ทั้งนี้ ขอความร่วมมือเกษตรกรและสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางให้ความสำคัญกับกระบวนการการผลิตยางแผ่นชั้นดี หรือการผลิตยางชนิดอื่น ๆ ให้ได้คุณภาพ มาตรฐาน โดยสามารถรับข้อมูลที่ถูกต้องได้จาก กยท.ทั้ง 80 สาขาทั่วประเทศ และขอให้ผู้ส่งต่อข้อมูลผ่านเครือข่ายออนไลน์ใช้วิจารณญาณในการรับข่าวสาร
ขณะที่ราคายางปรับตัวลดลงต่อเนื่องช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เกิดจากตลาดซื้อขายยางล่วงหน้าทั้งตลาดโตเกียว (TOCOM) และ ตลาดเซี่ยงไฮ้ (SHEF) ได้รับผลกระทบจากปัจจัยเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนที่ผันผวน การแข็งค่าของค่าเงินเยนเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ราคาน้ำมันลดลง และการคาดการณ์สตอกยางของประเทศจีนที่ยังไม่ชัดเจน ขณะที่ราคายางภายในประเทศปีนี้คาดว่าจะอยู่ในกรอบ 60 – 70 บาทต่อกิโลกรัม และการส่งออกยางพาราครึ่งปีหลังยังมีทิศทางสดใส โดยจะมุ่งเน้นส่งเสริมให้เกษตรกรเพิ่มสัดส่วนการแปรรูปยางพาราเพื่อเพิ่มมูลค่าการส่งออก ซึ่งเชื่อมั่นว่าคุณภาพยางพาราไทยยังเป็นที่ต้องการของตลาดโลก แม้ว่าจะมีคู่แข่งรายใหม่เข้ามาแข่งขันในตลาดอย่างประเทศกัมพูชาก็ตาม
นางปรีดิ์เปรม ทัศนกุล นักวิทยาศาสตร์ชำนาญการพิเศษ ฝ่ายวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมยาง การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) กล่าวว่า ฤดูกาลผลัดใบยางแต่ละพื้นที่ในประเทศจะเกิดขึ้นไม่พร้อมกันขึ้นอยู่กับสภาพภูมิอากาศของพื้นที่นั้น ซึ่งเกษตรกรจะหยุดกรีดประมาณ 2-4 เดือน และเมื่อเริ่มเปิดกรีด น้ำยางสดจากการเปิดกรีดครั้งแรกอาจมีสารที่ไม่ใช่ยางสูงขึ้นบ้าง ขึ้นอยู่กับสภาพต้นยางที่แตกต่างกันและอาจส่งผลให้น้ำยางเสียสภาพเร็วกว่าปกติ ประกอบกับเกษตรกรบางรายผลิตยางแผ่นดิบไม่ตรงตามหลักวิชาการ ทำให้คุณสมบัติทางกายภาพลดลง อย่างไรก็ตาม จากการเก็บข้อมูลการทำยางแผ่นของกลุ่มเกษตรกรภาคใต้ 24 กลุ่ม เป็นเวลา 1 ปี พบว่า น้ำยางสดช่วงแรกของการเปิดกรีดจะมีค่าความอ่อนตัวเริ่มแรกหรือค่า PO อยู่ในช่วง 35-40 ค่าความหนืดมูนนี่เฉลี่ยมากกว่า 65 ทั้งนี้ การรักษาสภาพน้ำยางสดเพื่อนำมาใช้ในการผลิตยางแผ่นต้องทำอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการเท่านั้น จากนั้นต้นยางจะเข้าสู่สภาวะปกติเมื่อกรีดยางได้ประมาณ 5-7วัน
นางปรีดิ์เปรม กล่าวว่า การทำยางแผ่นดิบทั่วไปของเกษตรกรที่มีสวนยางขนาดเล็กมักจะผลิตยางในตะกงถาดหรือใช้ตะกงตับ สำหรับสวนขนาดใหญ่หรือเป็นกลุ่มสหกรณ์ที่รวบรวมน้ำยางครั้งละปริมาณมากๆ การเจือจางน้ำและน้ำยางในสัดส่วนที่ถูกต้องเป็นส่วนที่ต้องให้ความสำคัญ รวมทั้งการใช้กรดตามคำแนะนำด้วย ไม่ว่าจะทำยางในตะกงถาดหรือตะกงตับก็ตามจะได้ยางแผ่นที่มีคุณสมบัติเหมือนกัน ส่วนยางที่ขาดง่ายไม่สปริง หมายถึงยางขาดความยืดหยุ่น อาจพบบ้างจากกรรมวิธีการผลิตที่ไม่ถูกต้อง เช่น เปิดกรีดขณะที่ยางอ่อน ใช้สารเร่งน้ำยาง หรือการไม่ใช้กรดฟอร์มิคในการจับตัว เป็นต้น แต่ปัญหานี้พบน้อยมากเมื่อเทียบกับคุณภาพยางในภาพรวม.-สำนักข่าวไทย