สุราษฎร์ธานี 1 มิ.ย. – มีลูกหนี้นอกระบบ จ.สุราษฎร์ธานี ร้องเรียนมาที่สำนักข่าวไทยว่ากู้เงินจากกลุ่มเลี้ยงปลาของหมู่บ้าน เสียค่าปรับชำระหนี้ในอัตรา 100% ของเงินต้น 2 ปีแล้วที่เธอเดินหน้าเรียกร้องความเป็นธรรมกับหลายหน่วยงาน แต่ยังไม่มีความคืบหน้า
เอกสารการกู้ยืมเงินจากกลุ่มเลี้ยงปลา หมู่ 2 ต.สมอทอง อ.ท่าชนะ จ.สุราษฎร์ธานี ของนางวันเพ็ญ อักษรสม กู้เมื่อ 9 กันยายน ปี 2557 จำนวน 5,000 บาท มีข้อตกลงว่าให้เวลา 3 เดือน ดอกเบี้ยเดือนละ 250 บาท เมื่อครบกำหนดหากนำเงินมาคืน จะกู้ได้อีก
นอกจากนี้ เธอยังกู้เงินมาอีก 3 สัญญา โดยใช้ชื่อตนเองและชื่อพ่อสามี รวมเงินต้น 68,000 บาท ผ่อนชำระไปหลายงวด และท้ายสุดกู้เงินจาก ธ.ก.ส.เพื่อปลดหนี้ที่เหลืออีก 27,000 บาท แต่คณะกรรมการกลุ่มเลี้ยงปลากลับอ้างว่าเธอยังมีหนี้ค่าปรับผิดชำระหนี้อีก 5 เดือน เป็นเงิน 48,000 บาท เพราะทางกลุ่มคิดค่าปรับอัตรา 100 บาทต่อวัน ทำให้เงินต้นที่กู้แต่ละสัญญา มียอดค่าปรับเดือนละ 3,000 บาท จึงเห็นว่าเป็นการคิดค่าปรับที่ไม่เป็นธรรม
นางวันเพ็ญร้องขอความเป็นธรรมกับหลายหน่วยงานเพื่อให้ช่วยเจรจาไกล่เกลี่ย แต่ไม่เป็นผล ผ่านไป 1 ปี จึงเข้าแจ้งความที่ สภ.ท่าชนะ ให้ดำเนินคดีกับกรรมการกลุ่มเลี้ยงปลา ทั้ง 8 คน
ตำรวจท่าชนะระบุว่า ได้ออกหมายเรียกกรรมการบทราบข้อกล่าวหาแล้ว ในความผิดตาม พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา และได้สรุปสำนวนส่งให้อัยการแล้ว
นิติกร จ.สุราษฎร์ธานี ให้ข้อมูลว่า การทำสัญญาเงินกู้ นอกจากมีกฎหมายห้ามเจ้าหนี้เรียกเก็บดอกเบี้ยเกินร้อยละ 15 แล้ว ในส่วนของเบี้ยปรับจะมี พ.ร.บ.ข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ลูกหนี้สามารถปฏิเสธข้อตกลงที่ไม่เป็นธรรมได้
ล่าสุด ผู้ว่าฯ สุราษฎร์ธานี สั่งการศูนย์ดำรงธรรมอำเภอท่าชนะ เรียกทั้งสองฝ่ายเจรจา โดยประธานกลุ่มผู้เลี้ยงปลา หมู่ 2 ซึ่งเป็นอดีตผู้ใหญ่บ้านด้วย ระบุว่าจัดตั้งกลุ่มมาแล้วหลายปี ได้รับเงินสนับสนุนจาก อบต.สมอทอง 2 ครั้ง ครั้งละ 100,000 บาท ต่อมาส่งเงินคืนให้ อบต.แล้ว โดยทางกลุ่มฯ มีเงินทุนหมุนเวียน 1,700,000 บาท เงินที่งอกเงยมาจากการระดมทุน และปล่อยกู้ กำหนดค่าปรับการผิดชำระวันละ 100 บาทต่อสัญญา ไม่ว่าสัญญานั้นจะมีเงินต้นเท่าใด การกำหนดค่าปรับเป็นมติของกลุ่ม ส่วนที่กฎหมายห้ามเรียกเก็บดอกเบี้ยเกินร้อยละ 15 ต่อปีนั้น ยอมรับว่าไม่รู้มาก่อน
กรณีนางวันเพ็ญ อักษรสม ที่กู้เงินกลุ่มเลี้ยงปลาใน อ.ท่าชนะ จ.สุราษฎร์ธานี ซึ่งต้องจ่ายดอกเบี้ยและค่าปรับในอัตราที่สูงเกิน 100% เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของปัญหาหนี้นอกระบบที่มักเกิดกับชาวบ้าน และขาดความรู้ความเข้าใจในกฎหมาย มีการตั้งข้อสังเกตว่า กลุ่มเลี้ยงปลา รับเงินอุดหนุนจาก อบต. เพื่อให้ชาวบ้านทำอาชีพเลี้ยงปลาสร้างรายได้ แต่กลับไม่มีการตรวจสอบว่าเงินที่นำไปปล่อยกู้ คิดดอกเบี้ยและค่าปรับเกินกฎหมายกำหนด นำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์หรือไม่. – สำนักข่าวไทย