กรุงเทพฯ 1 มิ.ย.-กรมกิจการเด็กและเยาวชน กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ จัดอบรมเตรียมความพร้อมพ่อแม่ไทยและต่างชาติ 34 ครอบครัว ที่ยื่นขอรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม เพื่อให้มีความรู้พื้นฐานการเลี้ยงดู และขั้นตอนการขอรับเลี้ยง แก้ปัญหาการซื้อขายเด็ก
นางสุภัชชา สุทธิพล รองอธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน (ดย.)กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการโครงการเตรียมความพร้อมครอบครัวบุญธรรมก่อนขอรับเลี้ยงดูบุตรธรรม ณ โรงแรมเดอะทวินทาวเวอร์ กทม. ระหว่างวันที่ 31 พ.ค.-2 มิ.ย.60 และกล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ เป็นการอบรม เพื่อให้พ่อแม่ทั้งไทยและชาวต่างชาติที่ต้องการขอรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมได้มีความรู้พื้นฐานเบื้องต้นในการเลี้ยงดูเด็ก มีความเข้าใจถึงปัญหาอุปสรรคที่อาจมีผลต่อตัวเด็ก รวมถึง ขั้นตอนการขอรับเลี้ยง เพื่อจะได้เตรียมความพร้อม และร่วมแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ ความคิดเห็นระหว่างพ่อแม่บุญธรรมที่มีประสบการณ์ เพื่อให้เด็กเติบโตในครอบครัวบุญธรรมได้อย่างมีความสุข ตอบรับ พ.ร.บ.การรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม พ.ศ.2554 ที่กำหนดว่าบุคคลที่จะรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม ต้องได้รับการเตรียมความพร้อม โดยผู้เข้าร่วมอบรมครั้งนี้ คือผู้ยื่นขอรับเด็กไทยเป็นบุตรบุญธรรม ซึ่งมีทั้งคนไทยและต่างชาติ จากประเทศที่ทำบันทึกข้อตกลงร่วมกันกับไทย อาทิ อเมริกา แคนาดา ฝรั่งเศส อังกฤษ จำนวน 34 ครอบครัว รวม 63 คน
นางสุภัชชา กล่าวต่อว่า สำหรับผู้ต้องการขอรับเด็กไปเป็นบุตรบุญธรรมไม่ว่าคนไทยหรือต่างชาติ ต้องมีคุณสมบัติเบื้องต้นคือ อายุไม่ต่ำกว่า 25 ปีและอายุห่างจากเด็กไม่ต่ำกว่า 15 ปี มีความพร้อมทั้งสุขภาพกายและจิตใจ รวมถึงฐานะและความเป็นอยู่และต้องไม่มีประวัติอาชญากรรม ขณะที่เด็กที่จะเป็นบุตรบุญธรรม มีทั้งเด็กกำพร้าในสถานสงเคราะห์ ที่ยุติการติดตามตัวพ่อแม่ หรือเด็กที่พ่อแม่ยิมยอมให้เป็น รวมถึงเด็กที่ศาลมีคำสั่งให้เป็นบุตรบุญธรรม โดยขั้นตอนการขอรับ สำหรับชาวต่างชาติต้องยื่นความจำนงขอรับได้ที่ศูนย์อำนวยการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม สถานสงเคราะห์เด็กหญิงบ้านราชวิถี ส่วนคนไทยสามารถยื่นขอรับได้ทั้งที่ดังกล่าวและที่ พม.จังหวัดของตนเอง โดยไม่สามารถระบุเพศ อายุ ของเด็กได้
ทั้งนี้ การรับบุตรบุญธรรมที่ผ่านกระบวนการอย่างถูกต้องที่ผู้ขอรับไม่ว่าจะคนไทยหรือต่างชาติต้องผ่านการอบรมนั้น ไม่เพียงแต่เป็นการเตรียมความพร้อมก่อนรับเลี้ยงเด็กเท่านั้น ยังถือเป็นหนึ่งแนวทางการป้องกันและยุติการซื้อขายเด็ก ซึ่งเป็นที่มาของปัญหาการค้ามนุษย์อีกด้วย ซึ่งตั้งแต่ปี 2523 จนถึงปัจจุบัน มีชาวต่างชาติได้รับเด็กไทยเป็นบุตรบุญธรรมแล้วกว่า 12,000 ราย .-สำนักข่าวไทย