กรุงเทพฯ 31 พ.ค.-สจล.ร่วมมหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอน เปิดเเคมปัสในไทย สอน2หลักสูตรด้านวิศวกรรมที่ได้มาตรฐานจากสหรัฐอเมริกา พัฒนานักศึกษาเเละนักวิจัยสร้างนวัตกรรมใหม่ ย้ำครั้งเเรกที่ไทยร่วมต่างชาติ เด็กจะได้รับปริญญาเหมือนเรียนที่สหรัฐอเมริกา เเละเป็นโอกาสดีที่รัฐใช้ม.44 เอื้อให้ต่างชาติเปิดสอนในไทย เพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาอย่างเข้มข้น
นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง(สจล.) พร้อมด้วยนายเจมส์ การ์เร็ต คณบดีวิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอน ซึ่งมีชื่อเสียงด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมชั้นนำระดับโลก ร่วมแถลงข่าวภายหลังได้หารือร่วมกับ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อรายงานความคืบหน้าและหารือเกี่ยวกับโครงการความร่วมมือระหว่าง 2 สถาบัน เพื่อพัฒนาบุคลากรและนักศึกษาไทย ให้มีความสามารถในการสร้างเทคโนโลยีและนวัตกรรมรองรับไทยแลนด์ 4.0 หลังได้ดำเนินการมากว่า 2 ปีเเละได้ลงบันทึกความร่วมมือกันไปแล้วเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา
นายสุชัชวีร์ กล่าวว่า การจับมือครั้งนี้ ถือเป็นครั้งแรกที่มหาวิทยาลัยไทยที่ได้รับเกียรติ จากมหาวิทยาลัยอันดับต้นๆ ของโลกในการจัดตั้งหน่วยงานความร่วมมือในประเทศและเปิดหลักสูตรร่วมกัน เพื่อพัฒนาทักษะความสามารถ ของอาจารย์ นักศึกษาและบุคลากรภาคเอกชน ให้ทัดเทียมนานาชาติ ทั้งยังผลักดันให้ไทย ก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางด้านการวิจัยและนวัตกรรมของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แล้ว ขณะเดียวกันยังช่วยสร้างความเชื่อมั่นแก่ภาคเอกชนและบริษัทข้ามชาติ ให้มีความเชื่อมั่นในการเข้ามาสร้างฐานการลงทุนในไทย
โดยร่วมมือผ่านการจัดกิจกรรมใน 4ด้าน คือ 1.จัดตั้งหน่วยงานร่วมกันในประเทศไทย โดยใช้ระบบบริหารจัดการระบบเดียวกับที่สหรัฐอเมริกา ซึ่งถือเป็นครั้งเเรกที่สถาบันการศึกษาไทยได้รับเกียรติ อีกทั้งที่มหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอนก็ได้เปิดพื้นที่หรือเเคมปัสให้อาจารย์เเละนักศึกษาไทยได้ทำงานวิจัยร่วมกันที่สหรัฐอเมริกาด้วย
2.การเปิดสอนหลักสูตรร่วมกัน ผู้เรียนจะได้รับปริญญาเหมือนกับที่เรียนสหรัฐอเมริกา เเบ่งเป็นระดับปริญญาโท 2 ปีในหลักสูตร Electrical and Computer Engineering เเละหลักสูตร Technology Ventures โดยเรียนในไทย 1 ปีเเละที่สหรัฐอเมริกา 1 ปี เพื่อพัฒนาคนรุ่นใหม่ให้ตอบโจทย์การพัฒนาประเทศ//เเละระดับปริญญาเอก 5 ปีในหลักสูตร Electrical and Computer Engineering เรียนในไทย 2 ปีเเละสหรัฐอเมริกา 3 ปี เพื่อพัฒนาคุณภาพของอาจารย์เเละนักวิจัยไทยให้ทีความรู้เเละทักษะทัดเทียมนานาชาติ ซึ่งทุกหลักสูตรออกเเบบโดยมหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอนว่าสามารถตอบโจทย์การพัฒนาประเทศโดยจะเริ่มรับนักศึกษาในช่วงเดือนตุลาคมนี้ เเละเปิดสอนเดือนสิงหาคม ปี2560
3.การจัดทำโครงการวิจัยร่วมเพื่อตอบปัญหาของประเทศไทย โดยทุกโครงการจะใช้อาจารย์หรือนักวิจัยหลักมาจากมหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอนเเละมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก และ 4. การแลกเปลี่ยนอาจารย์และนักวิจัยเพื่อพัฒนาทักษะให้ทัดเทียมนานาชาติ โดยกำหนดกรอบความร่วมมือ 10 ปี วางเป้าหมายผลิตนักศึกษาปริญญาโทไม่ต่ำกว่า 200 คน ปริญญาเอกไม่ต่ำกว่า 80 คน ยกระดับคุณภาพอาจารย์เเละนักวิจัยไทยให้มีมาตรฐานระดับโลก 80 คน สร้างโครงการวิจัยเพื่อต่อยอดนวัตกรรมกว่า 80 โครงการ ซึ่งนอกจากจะช่วยยกระดับคุณภาพทางการศึกษาเเล้วยังทำให้เศรษฐกิจของประเทศดีขึ้นด้วย ซึ่งขณะนี้ยังถือเป็นโอกาสที่ดีที่รัฐบาลเปิดช่องอำนวยความสะดวกให้สถาบันอุดมศึกษา ที่มีศักยภาพสูงจากต่างประเทศเข้ามาเปิดการเรียนการสอนในเขตเศรษฐกิจพิเศษ เชื่อเป็นการกระตุ้น ให้เกิดการแข่งขันและพัฒนาคุณภาพการศึกษาภายในประเทศอย่างเข้มข้น
“ขณะเดียวกันถือเป็นความโชคดีที่นักศึกษาไทยเเละอาจารย์จะได้เรียนรู้เรื่องการพัฒนาระบบความปลอดภัยไซเบอร์ หลังอาชญากรรมออนไลน์กำลังเเพร่หลายทั่วโลก เพราะมหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอนเพิ่งได้รับรางวัลชนะเลิศการคิดค้นระบบMayhem ค้นหาช่องโหว่เเละป้องกันภัยคุกคามทางออนไลน์”นายสุชัชวีร์ กล่าว
ด้านนายเจมส์ การ์เร็ต คณบดีวิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอน กล่าวว่า ยินดีที่ได้ทำความร่วมมือร่วมกันในครั้งนี้ เพราะสจล.เองก็ถือเป็นสถาบันที่มีความโดดเด่นด้านวิศวกรรม การได้เเลกเปลี่ยนเเละทำงานร่วมกัน จะได้องค์ความรู้ที่ดีเเละเเตกต่างเพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ ตอบโจทย์ไทยเเลนด์4.0เเละการพัฒนาประเทศในอนาคต
ภายหลังการเเถลงข่าวได้มีการจัดเสวนา “แนวทางพัฒนาการศึกษาไทยในด้านการวิจัยและนวัตกรรมก้าวกระโดดสู่ “ประเทศไทย 4.0” ซึ่งได้มีการเเลกเปลี่ยนถึงความร่วมมือที่ไทยเปิดโอกาสให้ต่างชาติเข้ามาเปิดมหาวิทยาลัยในไทย โดยมี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และผู้บริหารจากองค์เอกชนเข้าร่วมแลกเปลี่ยนทัศนะด้วย .-สำนักข่าวไทย