จันทบุรี 20 พ.ค.-ประธาน สนช. แนะคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างกฎหมายลูกว่าด้วย กกต.-พรรคการเมือง พิจารณาโดยยึดบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญก่อนบทหลัก
คณะกรรมาธิการสามัญพิจารณาศึกษา เสนอแนะและรวบรวมความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จัดโครงการสัมมนา เรื่องร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ที่โรงแรมนิวแทรเวล ลอด์จ จังหวัดจันทบุรี
โดยนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. เป็นประธานเปิดการสัมมนา พร้อมให้ข้อสังเกตต่อคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับ เรื่องกระบวนการพิจารณากฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่แตกต่างจากกฎหมายทั่วไป ว่า เนื่องจากกฎหมายทั่วไป การพิจารณาจะเน้นไปในเรื่องของนโยบายรัฐบาลเป็นหลัก สนช.จึงทำหน้าที่การตรวจพิจารณาความเหมาะสมของกฏหมายเท่านั้นว่าต้องมีการแก้ไขหรือไม่ แต่การพิจารณาร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญนั้น ต้องดูที่บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญเป็นหลัก โดยพิจารณาจากบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญก่อนไปพิจารณาบทหลักของรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีความแตกต่างกัน
“เช่น เมื่อ สนช.พิจารณาร่างกฎหมายเสร็จแล้ว ตามบทหลักของรัฐธรรมนูญกำหนดให้ต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ แต่ในบทเฉพาะกาล กำหนดให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญเฉพาะกฎหมายที่เกี่ยวกับศาลรัฐธรรมนูญเท่านั้น ส่วนกฎหมายอื่น เช่น กฎหมายพรรคการเมือง ต้องส่งให้ กกต. และกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ตรวจสอบแทนว่าเนื้อหาของร่างกฎหมายที่ สนช.พิจารณาเสร็จแล้ว ตรงตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญหรือไม่ หากเห็นว่าไม่ตรง ก็ให้ สนช.ตั้งกรรมาธิการร่วมขึ้นมาเพื่อพิจารณา ก่อนส่งให้ สนช.ลงมติอีกครั้งว่าเห็นด้วยกับที่คณะกรรมาธิการร่วมแก้ไขหรือไม่ ซึ่งเหตุผลที่บทหลักและบทเฉพาะการเขียนต่างกัน เพราะกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ แตกต่างจากกฎหมายทั่วไป ต้องให้ความสำคัญมากกว่า และเน้นคำนึงถึงผลประโยชน์ขอบประเทศชาติเป็นหลัก ไม่ได้คำนึงถึงผลประโยชน์ขององค์กรใดองค์กรหนึ่ง ยึดหลักนิติธรรม เพื่อพัฒนาความเป็นประชาธิปไตยของประเทศชาติ” นายพรเพชร กล่าว
นายพรเพชร กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม แม้ว่าในบทเฉพาะกาลจะไม่ได้กำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจพิจารณาความขัดแย้งในกฏหมายขององค์กรอื่น แต่ในบทหลักให้อำนาจศาลวินิจฉัยความขัดแย้งทางกฎหมายได้ ผ่านช่องทางต่าง ๆ ตามมาตรา 148 ของรัฐธรรมนูญ ไม่ว่ากฎหมายนั้นจะประกาศใช้แล้ว หรือยังไม่นำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมก็ตาม.-สำนักข่าวไทย