กรุงเทพฯ 18 พ.ค.- ทูตพาณิชย์จีนระบุ โครงการอีอีซี สอดคล้องกับนโยบาย One Belt One Road ด้านเอกชนไทย-จีน MOU ร่วมมือดึงดูดการลงทุน
ในการสัมมนา “2017 เจาะลึกโอกาส เมืองฉงจั่ว ประตูสู่อาเซียน ภายใต้ยุทธศาสตร์ One Belt One Road ” งานสัมมนาที่เชิญชวนนักลงทุนไทยไปลงทุนในสาธารณรัฐประชาชนจีน ณ เมืองฉงจั่วในนิคมอุตสาหกรรมไทย-จีน (ฉงจั่ว) ซึ่งถือเป็นประตูสู่จีน ที่สอดคล้องกับนโยบาย One Belt One Road ของสาธารณรัฐประชาชนจีน
นางจาง เพ่ยตง อุปทูตฝ่ายพาณิชย์ สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีน กล่าวว่า นโยบาย One Belt One Road ของสาธารณรัฐประชาชนจีน ทางการจีนมีการลงทุนจำนวนมาก และจะช่วยสร้างโอกาสทางการค้าการลงทุนให้เกิดขึ้นตลอดเส้นทางนี้ และการที่ประเทศไทยมี นโยบายอุตสาหกรรม 4.0 และมีโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี) ที่จะก่อให้เกิดโครงการลงทุนภาคอุตสาหกรรมยุคสมัยใหม่นี้ นับเป็นการเสริม นโยบาย One Belt One Road และนับเป็นช่วงเหมาะสม และหลายปีมานี้ มณฑลกวางตุ้ง มีความร่วมมือทางการค้ากับไทยแน่นแฟ้น นิคมอุตสาหกรรมไทย-จีน (ฉงจั่ว) จะเป็นอีกส่วนหนึ่งที่เสริมความร่วมมือ จีน-ไทย ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น โดยเมืองฉงจั่วเป็นประตูภาคใต้ของสาธารณรัํฐประชาชนจีนที่เปิดสู่อาเซียน จึงเชื่อว่า ความร่วมมือระหว่างไทย-จีนจะยิ่งทวีคูณมากขึ้นต่อไปในอนาคต
นายพรชัย ตระกูลวรานนท์ ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ กล่าว่า นโยบาย One Belt One Road ของสาธารณรัฐประชาชนจีน ช่วยจุดประกายความหวังให้กับประชาชาติต่าง ๆ ที่อยู่ในเส้นทางนี้ ไทยได้ประโยชน์เช่นกัน และถือเป็นโลกาภิวัฒน์รูปแบบใหม่แห่งศตวรรษที่ 21
สำหรับเมืองฉงจั่ว มลฑลกวางซี มีความสำคัญด้านเศรษฐกิจและการลงทุน ขณะที่ระยองและมุกดารของไทยเป็นเมืองหน้าด่านของประเทศไทย ส่วนจังหวัดระยอง เป็นที่ตั้งของโครงการ อีอีซี ที่จะช่วยให้ประเทศไทยเชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้านและเป็นทางออกไปสู่สากลและระดับนานาชาติมากยิ่งขึ้น
นายพรชัย กล่าวแนะนำโครงการ อีอีซี ของไทยต่อนักลงทุนจีนที่เดินทางมาประเทศไทย ว่า นิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่ อีอีซี เหมาะสมสำหรับตั้งฐานการผลิตที่เชื่อมกับเอเซียตะวันออกเฉีียงใต้กลุ่มประเทศ CLMVT และระยองยังเชื่อมกับทะเลจีนใต้และทะเลอันดามัน อีกทั้งยังเชื่อมมหาสมุทรแปซิฟิคและมหาสมุทรอินเดียอีกด้วย ทำให้เกิดเป็นเส้นทางลอจีสติกส์โลกต่อไป
ส่วนจังหวัดมุกดาหารเป็นเส้นทางที่เชื่อมไปยังสปป.ลาว มีความคึกคักทั้งด้านการขนส่งสินค้าและท่องเที่ยว ต่อไปเส้นทางนี้ จะเชื่อมต่อไปสู่ดานังของเวียดนาม และทวีความคึกคักมากขึ้น จึงมั่นใจว่า ความร่วมมือ 4 ฝ่ายจะประสบผลสำเร็จดียิ่งในอาคตอันใกล้นี้
นางสาวนิสากร จึงเจริญธรรม รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า นโยบาย One Belt One Road ของสาธารณรัฐประชาชนจีน ที่แบ่งเป็น 2 เส้นทาง คือ ทางบกและทางน้ำ เป็นเสหมือนโคมไฟที่ไม่เพียงสาธารณรัฐประชาชนจีนได้ประโยชน์ แต่ประเทศในเส้นทางสายไหมต่างได้ประโยชน์ไปด้วยพร้อม ๆ กัน และการลงนามความร่วมมือนิคมอุตสาหกรรมไทย-จีน (ฉงจั่ว) ซึ่งเป็นการร่วมกับ 4 นิคมอุตสาหกรรม ประกอบด้วย นิคมอุตสาหกรรมฉงจั่ว (จีน-ไทย) นิคมอุตสาหกรรมระยอง (จีน-ไทย) บริษัทสยามอีสเทิร์น อินดัสเตรียล พาร์ค จำกัด และเขตเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดมุกดาหาร เชื่อว่า จะก่อตัวเป็นรูปแบบการพัฒนาร่วมกันที่มีชื่อว่า 2 ประเทศ 4 นิคมอุตสาหกรรมที่จะช่วยผลักดันให้เกิดการความร่วมมือของทั้งสองประเทศที่แน่นแฟ้นต่อไป -สำนักข่าวไทย