รัฐสภา 18 พ.ค.- อนุกรรมการปฏิรูปตำรวจ สนช.-สปท. เตรียมส่งแผนปฏิรูปตำรวจไปยังรัฐบาล เสนอให้ สตช. เป็นหน่วยงานสังกัดกระทรวงยุติธรรม การแต่งตั้งโยกย้ายจะต้องยึดหลักอาวุโสไม่น้อยกว่าร้อยละ 50
นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานระหว่าง สนช. และสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ( สปท.) เป็นประธานเปิดการแถลงข่าวผลการพิจารณาศึกษาแผนการปฏิรูปกิจการตำรวจ ของคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจเพื่อศึกษาแผนการปฏิรูปกิจการตำรวจ ระหว่าง สนช. และ สปท.
พล.ต.ท.บุญเรือง ผลพาณิชย์ ประธานอนุกรรมการเฉพาะกิจเพื่อศึกษาแผนการปฏิรูปกิจการตำรวจ เปิดเผยข้อเสนอการปฏิรูปตำรวจที่เตรียมจะส่งไปยังรัฐบาล เพื่อดำเนินการต่อไปว่า ได้เสนอให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) เป็นหน่วยงานในสังกัดกระทรวงยุติธรรม เพื่อให้การทำงานร่วมกับตำรวจ อัยการ ศาล มีการประสานงานอย่างใกล้ชิดมากขึ้น และบูรณาการกับหน่วยงานที่บังคับใช้กฎหมายในสังกัดกระทรวงยุติธรรม โดยให้วุฒิสภา ( ส.ว.) ควบคุมการบริหารงานผ่านการพิจารณาประจำปี
พล.ต.ท.บุญเรือง กล่าวว่า ส่วนการโยกย้าย และแต่งตั้งข้าราชการตำรวจนั้น จะต้องนำผลการศึกษาอบรมมาใช้เป็นข้อมูลประกอบ เพื่อคัดกรองบุคคลที่มีความรู้ความสามารถเหมาะสมกับตำแหน่ง โดยวางหลักเกณฑ์กลางในการเลื่อนตำแหน่ง ที่จะต้องยึดหลักอาวุโสไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 และจะต้องดำรงตำแหน่งในโรงพัก และทำคดีไม่น้อยกว่า 70 คดี หรือด่านตรวจคนเข้าเมือง ไม่น้อยกว่า 2 ปี เว้นแต่ เป็นบุคคลที่สอบได้ลำดับที่ 1 ของแต่ละรุ่นในหลักสูตรสารวัตร, ผู้กำกับ หรือในหลักสูตรบริหารงานตำรวจขั้นสูง ที่จะได้สิทธิเลื่อนตำแหน่ง เมื่อมีคุณสมบัติพื้นฐานครบ
พล.ต.ท.บุญเรือง ยังกล่าวถึง การลงโทษเจ้าหน้าที่ตำรวจที่กระทำความผิดประพฤติมิชอบว่า จะต้องลงโทษจริงจัง และพิจารณาข้อบกพร่องของผู้บังคับบัญชาที่ปล่อยปละละเลย สำหรับเครื่องมือในการทำงานนั้น จะต้องสนับสนุนให้เหมาะสม เพื่อให้ตำรวจสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงสวัสดิการอัตราเงินเดือนและสวัสดิการอื่น ๆ จะต้องให้เพียงพอแก่การดำรงชีพ เลี้ยงครอบครัวของเจ้าหน้าที่ตำรวจได้โดยไม่เดือดร้อน ไม่มีหนี้สินพ้นตัว
ทั้งนี้ อนุกรรมาการฯ ได้ตั้งเป้าหมายว่า การปฏิรูปตำรวจภายใน 1 ปีแรกนั้น การคัดเลือกบุคคลเพื่อเป็นตำรวจ จะต้องมีวิธีและรูปแบบที่เหมาะสม ทั้งความประพฤติ ทัศนคติและจิตใจ และปรับปรุงองค์ประกอบ และอำนาจหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ หรือ กตร. และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ หรือ กตช. จะต้องมีธรรมาภิบาล
การแต่งตั้งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ หรือ ผบ.ตร. นั้น จะต้องคำนึงถึงความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และจะต้องแต่งตั้งตามวาระประจำปีอย่างเคร่งครัด ภายใน 3 ปี และจะต้องขยายงานสำนักงานพิสูจน์หลักฐานจังหวัด และโรงพักให้ได้ไม่ร้อยกว่าร้อยละ 70 และนำระบบอิเล็กทรอนิกส์ เข้ามาตรวจสอบ เพื่อลดการทุจริตคอร์รับชัน พร้อมเร่งพัฒนาระบบกล้องวงจรปิดตามท้องถนน และระบบออนไลน์ให้ได้ 100 เปอร์เซ็น ภายใน 5 ปี เนื่องจากหลายคดี สามารถติดตามคนร้ายได้จากกล้องวงจรปิด เป็นต้น.-สำนักข่าวไทย