ประจวบฯ 15 พ.ค. – ก.พลังงานเล็งผุดโรงไฟฟ้าจะนะโรงที่ 3 หลังเกิดปัญหาต้าน “ถ่านหิน” ด้าน กฟผ.พร้อมรับนโยบายเสนอทบทวนแผนพีดีพีรับเทรนด์โลกลดใช้ฟอสซิล ย้ำสัดส่วนผลิตต้องครึ่งหนึ่งเหมือนเดิม
นายกรศิษฏ์ ภัคโชตานนท์ ผู้ว่าการ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงานได้แจ้งเบื้องต้นให้เตรียมศึกษาก่อสร้างโรงไฟฟ้าจะนะ 3 จังหวัดสงขลา กำลังผลิต 800 เมกะวัตต์ ใช้ก๊าซธรรมชาติจากแหล่งพัฒนาร่วมไทย- มาเลเซีย (เจดีเอ) เพราะมีแนวโน้มจะมีก๊าซเพิ่มขึ้นจากแหล่งนี้ ซึ่ง กฟผ.กำลังรอความชัดเจน
“ขณะนี้โรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่รอภาครัฐชี้ขาดว่าจะยกเลิกหรือเดินหน้าต่ออย่างไรและหากจะให้ทำการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมใหม่จะให้ทำอย่างไร โดยสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ยังไม่ตอบกลับ จะสร้างโรงไฟฟ้าแอลเอ็นจีอีก กระทรวงพลังงานก็รับว่ายากมีผลต่อค่าไฟฟ้าแพงมาก ซึ่งภาคใต้จำเป็นต้องมีโรงไฟฟ้าใหม่ หากจะนะ 3 เกิดได้จริง ก็เป็นเรื่องที่ดี” ผู้ว่าฯ กฟผ.กล่าว
นายกรศิษฏ์ กล่าวด้วยว่า ด้วยเทคโนโลยีพลังงานทดแทนที่เปลี่ยนแปลงไปและการพัฒนาระบบ Smart Grid, Energy Storage ประกอบกับนโยบายนายกรัฐมนตรีให้ปรับแผนพัฒนากำลังไฟฟ้าระยะยาว 20 ปี หรือพีดีพี 2015 (ปี 2558-2579) ให้มีสัดส่วนพลังงานทดแทนเพิ่มขึ้นร้อยละ 40 ดังนั้น ช่วงปลายแผนปี 2579 อาจไม่มีการสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ เช่น โรงไฟฟ้าถ่านหินและก๊าซธรรมชาติ
ทั้งนี้ ทาง กฟผ.จึงเสนอกระทรวงพลังงานปรับแผนพีดีพี 2015 ครั้งใหญ่ โดยนำปัจจัยดังกล่าวมาพิจารณาควบคู่การจัดโซนนิ่งพลังงานทดแทน, การเปลี่ยนวิธีสำรองไฟฟ้าเป็นรายภูมิภาค จากเดิมสำรองรวมทั้งประเทศในสัดส่วนร้อยละ 15, การปรับปรุงประสิทธิภาพของโรงไฟฟ้าที่เดินเครื่องอยู่แล้ว และบูรณาการการทำงาน 3 การไฟฟ้า เรื่องสมาร์ทกริด เพื่อลดความซ้ำซ้อนในการลงทุนระบบสายส่งและระบบควบคุม
“กฟผ.พร้อมรับเทรนด์เทคโนโลยีพลังงานที่เปลี่ยนแปลงไปพร้อมลงทุนพลังงานทดแทนเพิ่ม โดยตามรัฐธรรมนูญระบุชัดว่าการลงทุนด้านสาธารณูปโภคภาครัฐต้องมีสัดส่วนครึ่งหนึ่ง เพื่อความมั่นคงและรัฐวิสาหกิจยังแข่งขันกับเอกชนบางธุรกิจได้ เพื่อประโยชน์ประเทศชาติ” ผู้ว่าฯ กฟผ.กล่าว
นายกรศิษฏ์ ยังระบุว่าปีนี้ กฟผ. เตรียมเปิดให้เอกชนเข้ามาประมูล เพื่อลงทุนระบบ Energy Storage ใน 2 พื้นที่ คือ อำเภอบำเหน็จณรงค์ จังหวัดชัยภูมิ ขนาด 16 เมกะวัตต์ และอำเภอชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี ขนาด 21 เมกะวัตต์ คาดว่าต้องใช้งบลงทุนเมกะวัตต์ละหลายร้อยล้านบาท. – สำนักข่าวไทย