กรมสบส.13 พ.ค.-สบส.รุกนโยบายพัฒนาเมดิคัลฮับ ชู จ.ปราจีนบุรี เป็นเมืองนำร่องสุขภาวะดี แบบครบวงจร ด้านสมุนไพร บุคลากรด้านแพทย์แผนไทยต่อยอดและผลิตเพื่อนำภูมิปัญญาท้องถิ่นสู่สากล ขยายตลาดนักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ กระตุ้นเศรษฐกิจ และเพิ่มอาชีพให้กับคนในชุมชน ให้สามารถแข่งขันทั้งในและต่างประเทศ
นพ.วิศิษฎ์ ตั้งนภากร อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.)ให้สัมภาษณ์ว่า กรม สบส.บูรณาการทำงานร่วมกับกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ตอบสนองนโยบายการขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub) ระยะ 10 ปี และแผนแม่บทแห่งชาติว่าด้วยการพัฒนาสมุนไพรไทย ฉบับที่1 พ.ศ.2560-2564 ได้จัดตั้งเมืองสมุนไพร ใน 4 จังหวัด ได้แก่ สุราษฎร์ธานี เชียงราย สกลนครและปราจีนบุรี โดยเลือก จ.ปราจีนบุรีเป็นจังหวัดนำร่องเมืองสุขภาวะดี(Wellness City)แบบครบวงจรที่มีความหลากหลาย อาทิ สปา นวดไทย การรักษาพยาบาลทั้งแผนไทยและแผนปัจจุบันการดูแลสุขภาพระยะยาว การท่องเที่ยวพำนักระยะยาว ผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพ ศูนย์การค้าด้านสุขภาพและการจัดประชุม เป็นต้น
โดยการพัฒนาจะต้องมีปลอดภัยและทันสมัย ครอบคลุมใน 4 มิติ คือ โครงสร้างพื้นฐาน การส่งเสริมสุขภาพและการป้องกันโรค การรักษาโรคและการฟื้นฟูสภาพ ซึ่งได้ร่วมกับ รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร ดำเนินงานภายใต้ในรูปแบบของประชารัฐ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน ภายใต้แนวคิด “อภัยภูเบศร์Model”
ข้อมูลจากกรมท่องเที่ยวในปี 2559พบว่าในช่วงเดือน ส.ค.นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศ มีจำนวน 2.8 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปี 2558 ร้อยละ 11 ส่วนใหญ่มาจากเอเชียตะวันออก เช่น จีน มาเลเซีย ญี่ปุ่นและเกาหลี รองลงมาคือยุโรปและเอเชียใต้ นิยมเดินทางเข้ามาเพื่อรักษา พยาบาลและเพื่อการส่งเสริมสุขภาพ สร้างรายได้มากถึง1,604 พันล้านบาท ทั้งนี้ ข้อมูลการบริการแพทย์แผนไทยของ รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร พบว่าในปี 57มีมูลค่ากว่า 9ล้านบาท มีผู้มารักษา 117,270 คน ซึ่งในปี 58 มีมูลค่าเพิ่มขึ้น 9,804,651 บาท และผู้รับบริการเพิ่มขึ้น 255,456 คน
ด้านทพ.อาคม ประดิษฐสุวรรณ ผู้อำนวยการกองสุขภาพระหว่างประเทศ กล่าวว่า จากการลงพื้นที่พบว่า จ.ปราจีนบุรีมีความพร้อมด้านทรัพยากร ธรรมชาติ องค์ความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นจากชาวบ้านในการรักษาแพทย์แผนไทยแบบพื้นบ้านและมีหน่วยงานหลักอย่าง รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศรที่เป็นโรงพยาบาลประจำจังหวัด ในการวิจัย พัฒนาองค์ความรู้ด้านสมุนไพร และวิทยาลัยการแพทย์แผนไทยอภัยภูเบศรในสังกัดสถาบันพระบรมราชชนก ที่ผลิตบุคลากรสำหรับบริการด้านแพทย์แผนไทยระดับปริญญาตรีโดยเฉพาะเป็นที่แรกของไทย ในส่วนของชุมชนได้รวมกลุ่มเพาะปลูกสมุนไพรปลอดสารพิษ ที่เป็นส่วนประกอบหลักสำหรับแพทย์แผนไทย ถือเป็นจุดแข็งของจังหวัด นอกจากนี้ยังมีแหล่งท่องเที่ยวหลากหลาย ทรัพยากรธรรมชาติ เกษตรกรรม สภาวะแวดล้อม อากาศที่สมบูรณ์ นับได้ว่ามีความเหมาะสมในการพัฒนาให้เกิดการเชื่อมโยงในประเทศและต่างประเทศ และประชาคมอาเซียน
การดำเนินงานจะมีการแต่งตั้งคณะทำงานร่วมกันให้มีความครอบคลุมทั้ง 3 ส่วน ได้แก่ ภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคประชาชน ขับเคลื่อนการพัฒนา Wellness City แบบครบวงจร นำร่อง ณ จ.ปราจีนบุรี รวมทั้งการพัฒนาระบบการติดตาม ประเมินผลงานอย่างเป็นทางการและพัฒนาเกณฑ์และองค์ประกอบสำคัญของ Wellness City เช่น มิติด้านธรรมชาติบุคลากรวัฒนธรรมโครงสร้างพื้นฐานการคมนาคมบริการสุขภาพการท่องเที่ยว เป็นต้น
ทั้งนี้ ได้สำรวจความพร้อมในจังหวัดอื่นเพื่อพัฒนาต่อยอดการเป็นเมืองสุขภาวะดี ได้แก่ จ.หนองคาย นครพนม กระบี่ เป็นต้น สร้างความมั่นคงและคุณภาพชีวิตให้กับชุมชน และเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันกับต่างชาติ กระตุ้นเศรษฐกิจสร้างรายได้เข้าประเทศ .-สำนักข่าวไทย