สบส.3พ.ค.-สบส.เผยกฎหมายลูก 6ฉบับภายใต้พ.ร.บ.สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ พ.ศ.2559 มีผลบังคับใช้แล้ว เมื่อ 28เม.ย.2560 มั่นใจช่วยยก ระดับคุณภาพ มาตรฐานสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ เป็นที่ยอมรับทั้งชาวไทย-ต่างประเทศ ขจัดปัญหาสปา นวดไร้มาตรฐาน หรือในรูปแบบธุรกิจสีเทา แอบแฝงบริการทางเพศ
นพ.วิศิษฎ์ ตั้งนภากร อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.)กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ขณะนี้กฎหมายลูก 6 ฉบับ ที่ออกตาม พ.ร.บ.สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ พ.ศ.2559 มีผลบังคับใช้แล้วเมื่อวันที่ 28 เม.ย. 2560 ซึ่งการออกกฎหมายลูกทั้ง 6 ฉบับครั้งนี้ มีเจตนารมณ์เพื่อส่งเสริมคุณภาพ มาตรฐานและช่วยผลักดันธุรกิจสปา นวด สร้างงาน สร้างรายได้ให้กับผู้ที่อยู่ในสายอาชีพนวดเพื่อส่งเสริมสุขภาพ และขจัดปัญหาธุรกิจสีเทา อาทิ การบริการทางเพศ ที่มักจะนำชื่อสปา หรือนวดมาแอบแฝงให้บริการทางเพศ
กฎหมายลูกทั้ง 6 ฉบับ ประกอบด้วย 1.กฎกระทรวงกำหนดบริการอื่นในกิจการสปา พ.ศ.2560 ว่าด้วยบริการ 29 ประเภทที่สามารถให้บริการร่วมในกิจการสปา ซึ่งตามกฎหมายกำหนดให้กิจการสปาที่มีการเสริมสร้างสุขภาพด้วยน้ำ และนวดร่างกายเป็นหลักมีบริการอื่นเสริมอีกอย่างน้อย 3 อย่าง
2.กฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมและการชำระค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับการประกอบกิจการสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ พ.ศ.2560 ว่าด้วยอัตราค่าธรรมเนียมการขอใบอนุญาต การต่ออายุ ค่าธรรมเนียมรายปีการประกอบกิจการสถานประกอบการเพื่อสุขภาพซึ่งคิดตามขนาดพื้นที่บริการ ใบอนุญาตผู้ดำเนินการสปา อาทิ ค่าธรรมเนียมการออกใบอนุญาตกิจการประเภทสปา ขนาดพื้นที่ไม่เกิน 100 ตารางเมตร ฉบับละ 1,000 บาท, กิจการประเภทนวดเพื่อสุขภาพและเสริมความงาม ขนาดพื้นที่ไม่เกิน 100 ตารางเมตร ฉบับละ 500 บาท และ ใบอนุญาตผู้ดำเนินการสปา ฉบับละ 1,000 บาท
3.กฎกระทรวงการอนุญาตประกอบกิจการสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ พ.ศ.2560 ว่าด้วยการยื่นคำขอ การต่ออายุ การขอโอนใบอนุญาตประกอบกิจการสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ
4.กฎกระทรวงการอนุญาตเป็นผู้ดำเนินการในสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ พ.ศ.2560 ว่าด้วยหลักเกณฑ์และแนวทางการขออนุญาตเป็นผู้ดำเนินการสถานประกอบการเพื่อสุขภาพประเภทสปา
5.กฎกระทรวงการขึ้นทะเบียนเป็นผู้ให้บริการในสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ พ.ศ.2560 ว่าด้วยหลักเกณฑ์และแนวทางการขอขึ้นทะเบียนเป็นผู้ให้บริการในสถานประกอบการฯ
และ6.กฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานด้านสถานที่ ความปลอดภัย และการให้บริการในสถานประกอบการเพื่อสุขภาพประเภทกิจการสปา และกิจการนวดเพื่อสุขภาพหรือเพื่อเสริมความงาม พ.ศ.2560 ว่าด้วยการกำหนดมาตรฐานของสถานประกอบการฯ ทั้งด้านสถานที่ต้องสะอาดมีการแบ่งสัดส่วนชัดเจน, ด้านความปลอดภัยในการมีอุปกรณ์ปฐมพยาบาลเบื้องต้น มีระบบคัดกรองผู้รับบริการ, ด้านการให้บริการ ต้องแสดงรายการการและอัตราค่าบริการไว้ในที่เปิดเผย หรือสามารถตรวจสอบได้ที่จุดบริการ ให้มีเครื่องแบบสำหรับผู้ให้บริการ พร้อมป้ายชื่อผู้ให้บริการติดไว้ที่บริเวณหน้าอก และกำหนดเวลาให้บริการได้ตั้งแต่ 06.00 – 24.00 น.
“หากทุกฝ่ายร่วมกันปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด มั่นใจจะช่วยยก ระดับคุณภาพ มาตรฐานสถานประกอบการเพื่อสุขภาพนับหมื่นแห่ง และบุคลากรในสายอาชีพนวดนับแสนรายทั่วประเทศ ทั้งยังช่วยส่งเสริมการนวดไทย ซึ่งเป็นภูมิปัญญาชาติ ที่มีเอกลักษณ์ความเป็นไทย ความสุภาพ อ่อนโยน สามารถพบได้จากฝีมือผู้นวดชาวไทยเท่านั้น ให้เป็นที่ยอมรับ และโด่งดังสู่ระดับสากล” นพ.วิศิษฎ์ กล่าว
ทั้งนี้ การยื่นขอใบอนุญาตประกอบกิจการ,การขอใบอนุญาตเป็นผู้ดำเนิน การสปาและการขึ้นทะเบียนเป็นผู้ให้บริการนวด กรม สบส.จะมีคำสั่งมอบอำนาจให้เป็นผู้อนุญาตแทนอธิบดีกรม สบส. ถึงกองสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ และนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศเพื่อดำเนินการออกใบอนุญาตหรือขึ้นทะเบียนได้เต็มรูปแบบ ประมาณกลางเดือน พ.ค. 2560 โดยเขตกรุงเทพฯ ให้ยื่นคำขอพร้อมเอกสารหลักฐาน ณ กรม สบส. กระทรวงสาธารณสุข ส่วนต่างจังหวัดให้ยื่นที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดในพื้นที่
โดยสามารถตรวจสอบเอกสารหลักฐานที่ต้องใช้ประกอบได้ที่เว็บไซต์กองสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ (www.thaispa.go.th) และจะแจ้งผลการพิจารณาให้ผู้ขอรับใบอนุญาต/ขึ้นทะเบียนทราบภายใน 60 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับคำขอพร้อมเอกสารหลักฐานครบถ้วน หากมีเหตุผลหรือความจำเป็นที่ไม่อาจพิจารณาให้แล้วเสร็จได้ภายในระยะเวลาดังกล่าว อาจขยายระยะเวลาการพิจารณาออกไปได้อีกไม่เกิน 2 ครั้ง ครั้งละไม่เกิน 30 วัน และในกรณีที่มีคำสั่งไม่อนุญาต จะมีหนังสือแจ้งให้ผู้ขอรับใบอนุญาต/ขึ้นทะเบียนทราบพร้อมด้วยเหตุผลและสิทธิอุทธรณ์ ภายใน 7 วันนับแต่วันที่มีคำสั่งไม่อนุญาต หากประชาชนต้องการสอบถามข้อมูล สามารถติดต่อได้ที่กองสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ ชั้น 4 กรม สบส. หมายเลขโทรศัพท์ 02 193 7000 ต่อ 18408, 18411 และ 18226 .-สำนักข่าวไทย