กรุงเทพฯ 2 พ.ค. – รถตู้เช่าเหมาคันร้องคมนาคม ขอออกกฎหมายแยกจาก พ.ร.บ.ขนส่ง ชี้ข้อจำกัดเยอะ โวยกระทบบริการ ถูกจับปรับบังคับติดจีพีเอส ขีดเส้น 1 เดือน ขู่ปิดล้อมทำเนียบ
นายยุทธนา อินทรายุธ คณะทำงานแก้ไขปัญหารถตู้หมวดบริการธุรกิจและท่องเที่ยว เปิดเผยภายหลังการมายื่นหนังสือต่อกระทรวงคมนาคมว่าได้ขอให้กระทรวงคมนาคมแยกการใช้รถตู้ขนาดไม่เกิน 12 ที่นั่ง ที่ให้บริการแบบไม่ประจำทางหมวด 30 และ 36 ซึ่งที่ผ่านมากรมการขนส่งทางบก (ขบ.) จัดให้รถประเภทนี้อยู่ในกลุ่มเดียวกับรถโดยสารสาธารณะไม่ประจำทางหมวด 3 ดังนั้น ในฐานะผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยว จึงอยากให้กระทรวงคมนาคมและ ขบ.แยกรถตู้ขนาดไม่เกิน 12 ที่นั่งชนิดพิเศษวีไอพี เพื่อธุรกิจและการท่องเที่ยวให้มีกฎหมายและพระราชบัญญัติเป็นของรถหมวดนี้รองรับโดยเฉพาะ สำหรับสาเหตุที่อยากให้แยกหมวดรถตู้และมีกฎหมายรองรับโดยเฉพาะ เนื่องจากกฎระเบียบของรถตู้ที่วิ่งให้บริการไม่ประจำทางมีกฎระเบียบและข้อบังคับที่เป็นข้อจำกัดในการให้บริการเช่าเหมารถตู้อย่างมาก
ทั้งนี้ หากมีการแยกหมวดรถตู้ออกมานั้น เบื้องต้นจะต้องแก้ไขกฎหมาย พ.ร.บ.ขนส่ง พ.ศ.2522 ของ ขบ. ตามขั้นตอนต้องเร่งยกกฎหมายและเสนอผ่านความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ด้วย ดังนั้น ตัวแทนผู้ประกอบการรถตู้ที่ได้รับผลกระทบครั้งนี้ได้ยื่นหนังสือร้องเรียนผ่านศูนย์ร้องเรียน 1111 ที่ทำเนียบรัฐบาลและกระทรวงคมนาคม จากนั้นจะยื่นเรื่องไปยัง สนช.
นายยุทธนา กล่าวว่า รถตู้ที่ให้บริการไม่ประจำทางมีป้ายทะเบียนสีฟ้าขาว ไม่อยู่ในกลุ่มที่มีการจัดระเบียบรถตู้มีทั้งสิ้นทั่วประเทศกว่า 100,000 คัน เฉพาะที่ให้บริการในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ประมาณ 50,000 คัน ที่ประสบความเดือดร้อนครั้งนี้ เนื่องจากที่ผ่านมามีบุคคล คณะบุคคล องค์กร หน่วยงาน ห้างร้านและบริษัทจำนวนมากเช่าเหมาคัน เพื่อเดินทางไปปฏิบัติงาน ทำธุรกิจ กิจกรรมส่วนตัว รวมทั้งการท่องเที่ยวเป็นหมู่คณะและสามารถกำหนดระยะทาง เส้นทาง ระยะเวลาเดินทางได้ตามต้องการ ซึ่งเป็นที่นิยม แต่รถตู้ประเภทนี้ ขบ.จัดให้อยู่ในหมวดเดียวกับรถโดยสารสาธารณะไม่ประจำทาง จึงต้องปฏิบัติตามระเบียบรถโดยสาร คือ ติดจีพีเอส กำหนดชั่วโมงพนักงานขับรถ ความเร็วของรถ การจอดรถ ซึ่งไม่เอื้อต่อการให้บริการรถตู้รับจ้างแบบเช่าเหมาคัน จึงขอให้บังคับใช้ตาม พ.ร.บ.จราจรทางบกแทนการใช้ พ.ร.บ. ขนส่งทางบก
นอกจากนี้ นายยุทธนา กล่าวว่า เรื่องเร่งด่วนเฉพาะหน้าขอให้ยกเลิกการติดตั้งอุปกรณ์ติดตามรถยนต์จีพีเอสกับรถตู้หมวดนี้ เพราะไม่ใช่รถโดยสาร แต่เป็นรถยนต์รับจ้างคล้ายแท็กซี่ลีมูซีนที่นำมาจดทะเบียนเป็นรถรับจ้าง โดยกำหนดให้ผู้ประกอบการจะต้องมีใบขับขี่รับจ้างสาธารณะ เนื่องจากการติดจีพีเอส ทำให้มีข้อจำกัดเรื่องของความเร็ว การติดตามรถ ทำให้ผู้ประกอบการรถตู้กลุ่มนี้ต้องประสบปัญหาถูกใบสั่งจับปรับ จึงขอให้มีการผ่อนผันการกวดขับจับกุมจนกว่าจะมีการจัดระเบียบแยกหมวดหมูที่ถูกต้อง เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของเจ้าของรถด้วย
“รถตู้วีไอพีกลุ่มนี้ไม่สามารถกำหนดจำนวนชั่วโมงการขับรถเหมือนรถโดยสารประจำทางได้ เพราะระยะทางหรือเส้นทางไม่แน่นอน รวมถึงการจำกัดความเร็วต่าง ๆ ให้ยึดตาม พ.ร.บ.จราจรแทน หลังจากนี้ให้เวลา 1 เดือน จะกลับมาทวงคำตอบ ไม่เช่นนั้นคงจะต้องนำขบวนรถตู้ 1,000 คันมาจอดประท้วงแถวทำเนียบรัฐบาล” นายยุทธนา กล่าว.-สำนักข่าวไทย