กรุงเทพฯ 30 เม.ย.- อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ด้านสื่อสารมวลชน คัดค้าน ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองสื่อ ชี้ ขัด ม.35 และ ม.77 ของรัฐธรรมนูญ วอนทุกคนช่วยยับยั้งร่างกฎหมาย หวั่น ทำให้ประชาชนถูกปิดหูปิดตา
นายมานิจ สุขสมจิตร อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ด้านสื่อสารมวลชน กล่าวถึงร่างพ.ร.บ.การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรม และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชนที่จะเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมสปท.ในวันพรุ่งนี้ (1 พ.ค.) ว่า สื่อมวลชนไม่ได้อยู่เหนืออาชีพใด แต่สื่อเป็นอาชีพที่คู่กับประชาธิปไตย เพราะรัฐบาลต้องโปร่งใสและตรวจสอบได้ โดยสื่อมีบทบาทหน้าที่ในการตรวจสอบและหาข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องครบถ้วนรอบด้านนำมาให้ประชาชนได้ตัดสิน ไม่ใช่หาข้อมูลแต่ฝั่งรัฐบาลด้านเดียวเท่านั้น แต่การที่ให้คนของรัฐเข้ามานั่งอยู่ในสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติที่มีหน้าที่ออกใบอนุญาตให้แก่ผู้ประกอบวิชาชีพ หากสื่อใดวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลมากจนรัฐบาลไม่พอใจ ก็อาจจะถอนใบอนุญาตได้ ซึ่งเป็นวิธีการที่มีอยู่ในประเทศเผด็จการและคอมมิวนิสต์ แต่ในประเทศประชาธิปไตยจะไม่ดำเนินการเช่นนี้ เพราะสื่อต้องมีเสรีภาพและวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลได้ ดังนั้น หากจะอ้างว่า การออกกฎหมายนี้ เพื่อให้รัฐบาลมีเสถียรภาพ ตนก็อยากจะถามกลับไปว่า หากรัฐบาลไม่ดี ตรวจสอบไม่ได้ เขียนอะไรก็ถูกถอนใบอนุญาต จะให้รัฐบาลที่ไม่ดีบริหารประเทศต่อไปหรือไม่
“การที่กำหนดให้ปลัดกระทรวงมาดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการในสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ ตนตั้งข้อสังเกตว่า ปลัดกระทรวงจะมีเวลามาทำงานในสภาวิชาชีพหรือไม่ เนื่องจากดำรงตำแหน่งกรรมการหลายคณะ ซึ่งหากปลัดกระทรวงไม่มีเวลามาประชุม ปลัดกระทรวงอาจจะมอบหมายให้ลูกน้องมาทำหน้าที่แทน ขณะที่ลูกน้องก็อาจถือธงมาตามที่รัฐมนตรีสั่ง ทั้งที่รัฐมนตรีก็ถือเป็นนักการเมือง ดังนั้น ความเป็นธรรมจะเกิดขึ้นได้อย่างไร อีกทั้งนักการเมืองก็ต้องเป็นผู้แต่งตั้งตำแหน่งปลัดกระทรวงอยู่แล้ว” นายมานิจ กล่าว
ส่วนที่มีการอ้างว่าสัดส่วนของภาครัฐในคณะกรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติมีแค่ 2 คน ซึ่งน้อยกว่าสัดส่วนของสื่อนั้น นายมานิจ กล่าวว่า แม้ว่าแค่ 2 คน แต่ก็เสียงดังกว่าและยังเป็นคนถือเงินสนับสนุนสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ ก็ย่อมมีอิทธิพลเหนือกว่าได้ และเห็นว่า ไม่จำเป็นที่กรรมาธิการจะปรับแก้ด้วยการออกบทเฉพาะกาลให้ตัวแทนภาครัฐทั้ง 2 คน อยู่ในสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติได้แค่ 2 วาระ เนื่องจากบทเฉพาะกาลต้องแก้วิกฤตของประเทศ อีกทั้งกฎหมายทั่วไปที่มีอยู่แล้วกว่า 20 ฉบับ ก็สามารถควบคุมดูแลสื่อได้ แต่กลับไม่นำมาใช้ หากสื่อกระทำความผิด ก็ดำเนินการตามกฎหมายได้
นายมานิจ กล่าวว่า คำนิยามของสื่อมวลชนในกฎหมายนี้ ไม่ใช่แค่สื่อหลัก แต่รวมถึงสื่อออนไลน์ด้วย หากกฎหมายนี้บังคับใช้ ก็ต้องมีใบอนุญาต แม้แต่หน้าเพจเฟสบุคที่มีรายได้โฆษณาเข้ามาก็ต้องมีใบอนุญาต ส่วนบทลงโทษที่กำหนดว่า หากสื่อไม่มีอนุญาตผู้ประกอบวิชาชีพ จะมีโทษจำคุกนั้น มองว่า ผิดหลักวิชาการและขัดกับมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งกำหนดโทษทางอาญา แค่ความผิดร้ายแรงเท่านั้น แต่สื่อแค่ผิดจริยธรรมที่ต้องลงโทษทางปกครอง นอกจากนี้กฎหมายดังกล่าวยังขัดกับมาตรา 35 ของรัฐธรรมนูญที่ว่าด้วยสิทธิเสรีภาพของสื่อ เพราะการให้มีใบอนุญาตขัดต่อหลักเสรีภาพ ทั้งนี้ หากท้ายที่สุดร่างกฎหมายมีผลบังคับใช้ จะทำให้ประชาชนถูกปิดหูปิดตา เพราะสื่อทำข่าวได้เพียงด้านเดียวจากรัฐบาล หาข่าวจากฝ่ายค้าน หรือความเดือดร้อนจากประชาชนไม่ได้ ยืนยันว่า สื่อไม่ได้เรียกร้องเสรีภาพเพื่อจะใช้ตามใจสื่อ แต่เพื่อแสวงหาข้อมูลข่าวสาร และเป็นประโยชน์ต่อประชาชน ดังนั้น ประชาชนก็ต้องช่วยกันยับยั้งร่างกฎหมายฉบับนี้ .-สำนักข่าวไทย