กฟผ.28 เม.ย. – กฟผ.ปรับตัวรองรับ Energy 4.0 เดินหน้าผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน แนะกระทรวงพลังงานบูรณาการร่วม 3 การไฟฟ้า สร้างระบบสำรองไฟฟ้า ยืนยันระบบกำกับดูแลรักษาเสถียรภาพและค่าไฟฟ้ายังดีกว่าระบบเสรีในต่างประเทศ เพื่อดูแลภาระค่าไฟฟ้าของประชาชน
นายกรศิษฏ์ ภัคโชตานนท์ ผู้ว่าการ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จัดงานวันคล้ายวันสถาปนา “48 ปี กฟผ. องค์การใสสะอาด น้อมสืบสานปณิธานงานของพ่อ” จึงได้ปรับองค์กรรองรับ Energy 4.0 นำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้ในการพัฒนาระบบไฟฟ้า ได้แก่ การพัฒนาเครือข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Grid) นำร่องที่ จ.แม่ฮ่องสอน การพัฒนาระบบกักเก็บพลังงานไฟฟ้า (Energy Storage) เพื่อรองรับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนให้มีเสถียรภาพ ด้วยการจับคู่แหล่งผลิตตั้งแต่ 2 ชนิดขึ้นไปในรูปแบบที่เรียกว่า Hybrid เช่น โรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับและกังหันลมผลิตไฟฟ้าที่ลำตะคอง จ.นครราชสีมา
นายกรศิษฏ์ กล่าวว่า เมื่อรัฐบาลส่งเสริมให้เน้นการใช้พลังงานทดแทนจากนโยบายของนายกรัฐมนตรี กำหนดให้พึ่งพาพลังงานทดแทนจากร้อยละ 18 เพิ่มเป็นร้อยละ 40 ใน 20 ปีข้างหน้า หลายหน่วยงานจึงต้องจัดทำแผนร่วมกันใหม่อีกครั้ง กฟผ.มองว่าระบบกักเก็บพลังงานไฟฟ้ามีความสำคัญมากขึ้นในอนาคต ปีนี้จึงเตรียมเปิดประมูลการวางระบบสำรองจากพลังงานทดแทน ใน อ.บำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ ขนาด 16 เมกะวัตต์ และ อ.ชัยบาดาล จ.ลพบุรี ขนาด 21 เมกะวัตต์ ยอมรับว่าเป็นเงินลงทุนสูง แต่เพื่อรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนที่มีสัดส่วนมากขึ้น และ กฟผ.พร้อมเดินหน้าแข่งขันผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน 2,000 เมกะวัตต์ เนื่องจากมองว่าระบบกำกับดูแลจากภาครัฐยังช่วยดูแลเสถียรภาพและค่าไฟฟ้ามากกว่าการเปิดเสรีการผลิตจากภาคเอกชนที่มีสัดส่วนมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าการรักษาความมีเสถียรภาพ (Back Up) มีความสำคัญมากขึ้น เพื่อใช้แบตเตอรี่ในการสำรองพลังงานไฟฟ้าในปี 2560 เริ่มเปิดประมูลเพื่อนำมาใช้ในปี 2561 จึงเสนอกระทรวงพลังงานบูรณาการร่วมกันระหว่าง 3 การไฟฟ้า เพื่อพัฒนาระบบเครือข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะให้มีประสิทธิภาพ เพื่อกระทรวงพลังงานมีแผนการสำรองพลังงานรายภาค รวมถึงเตรียมรองรับการใช้รถยนต์ไฟฟ้า จึงพัฒนารถต้นแบบและสถานีชาร์จไฟฟ้า ตลอดจนเตรียมพัฒนาพื้นที่สำนักงานใหญ่ กฟผ. จ.นนทบุรี ให้เป็นเมืองอัจฉริยะ (Smart City) บนพื้นที่ 300 ไร่ เพื่อเป็นต้นแบบการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ กฟผ.จึงเป็นส่วนหนึ่งในขับเคลื่อนพลังงานหมุนเวียนให้บรรลุตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ. 2558-2579 (AEDP 2015) พร้อมทั้งวิจัยพัฒนาโครงการต่าง ๆ เพื่อพัฒนาพลังงานอย่างยั่งยืน
ขณะเดียวกัน กฟผ.มุ่งมั่นการรับผิดชอบต่อสังคมตามมาตรฐานสากล ISO 26000 เช่น การผลิตไฟฟ้าด้วยคุณภาพมาตรฐานสากล โรงไฟฟ้าเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและลดคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) เพื่อการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ลดให้ได้ 4 ล้านตันในปี 2563 และ 8 ล้านตันในปี 2568 และ 12 ล้านตันในปี 2573 นอกจากนี้ ปี 2560 กฟผ.ได้เปิดรับคนพิการเป็นพนักงาน 20 อัตรา รวมทั้งการจ้างงานอัตราท้องถิ่นด้วย
ในช่วงที่ผ่านมา กฟผ.จัดหาพลังงานไฟฟ้าตอบสนองความต้องการไฟฟ้าของประชาชนจากความต้องการพลังงานไฟฟ้าสูงสุดเท่ากับ 29,618.80 เมกะวัตต์ เพิ่มขึ้น 2,273 เมกะวัตต์ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.31 สำหรับความต้องการพลังงานไฟฟ้าสุทธิของระบบ กฟผ.ในปี 2559 มีค่าเท่ากับ 188,850.78 ล้านกิโลวัตต์ต่อชั่วโมง เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.93 ปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อปริมาณความต้องการไฟฟ้า คือ ปัจจัยทางเศรษฐกิจ โดยการใช้จ่ายภาคครัวเรือนและการลงทุนภาครัฐขยายตัวดีต่อเนื่อง การส่งออกบริการ และการส่งออกสินค้ากลับมาขยายตัว.-สำนักข่าวไทย