รัฐสภา 25 เม.ย.- วิปสนช. ชี้ มีกฎหมายอยู่ระหว่างการพิจารณา 21 ฉบับ ต้องรอการรับฟังความเห็นและผลกระทบตามรัฐธรรมนูญ มาตรา77
นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (วิป สนช.) แถลงผลการประชุมว่า การประชุม สนช.สัปดาห์นี้ จะไม่มีการพิจารณาร่างกฎหมาย เนื่องจากเมื่อรัฐธรรมนูญบังคับใช้ ต้องดำเนินการตามมาตรา 77 ที่กำหนดให้หน่วยงานของรัฐ ทำประชาพิจารณ์ ให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง แสดงความคิดเห็น เพื่อวิเคราะห์ผลกระทบอย่างเป็นระบบและเปิดเผยให้ผู้ที่เกี่ยวข้อง และได้รับผลกระทบรับทราบ เพื่อนำมาประกอบการพิจารณากฎหมายทุกขั้นตอน
โฆษกวิป สนช. กล่าวว่า สนช.มอบหมายให้ สำนักเลขาธิการวุฒิสภา ตรวจสอบร่างกฎหมายที่ส่งมา ให้ครบถ้วน ตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 4 เม.ย. ที่วางข้อกำหนดไว้ หากไม่ครบจะส่งกลับไปให้ดำเนินการใหม่ ขณะที่ กฎหมายที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของ สนช. ในขณะนี้ มีทั้งสิ้น 21 ฉบับ แบ่งเป็นร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับ และกฎหมายที่เกี่ยวกับยุทธศาสตร์ชาติ และการปฏิรูป 2 ฉบับ ส่วนที่อยู่ระหว่างการพิจารณาในชั้นกมธ.วิสามัญ มีอยู่ 17 ฉบับ ก็จะดำเนินการตรวจสอบว่า มีการรับฟังความเห็นตามมาตรา 77 ครบถ้วนตามมติครม.หรือไม่ ถ้าไม่ก็จะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการส่งข้อมูลเพิ่มเติม
นพ.เจตน์ กล่าวว่า นอกจากนี้ ยังดำเนินมาตรการเสริม ด้วยการเปิดเว็บไซต์ของวุฒิสภาให้ประชาชนที่อยากมีส่วนร่วมได้ร่วมแสดงความคิดเห็น เพื่อนำไปใช้ประกอบการพิจารณากฎหมายของ สนช.ด้วย นอกจากนี้ ยังได้รับการประสานจากกรธ.ว่าจะส่งกฎหมายลูกอีก 2 ฉบับมาให้คือ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย วิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย ผู้ตรวจการแผ่นดิน ส่วน ร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณพ.ศ. 2561 เบื้องต้นมีกำหนดเข้าที่ประชุมสนช.วันที่ 9 มิ.ย.นี้
โฆษกวิป สนช. กล่าวว่า ที่ประชุมได้กำหนดกรอบการบรรจุวาระการพิจารณา ร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย พรรคการเมือง และร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยกกต. ในวาระ 2 –3 ว่า หากฉบับไหนเสร็จก่อนก็จะเข้าสู่การพิจารณาวันที่ 8 มิ.ย. และอีกฉบับจะเข้าวันที่ 15 มิ.ย. เนื่องจากเกรงว่า หากพิจารณาวันเดียวกันอาจมีการยืดเยื้อ
นพ.เจตน์ กล่าวถึงกระแสข่าวการเลือกประธานกมธ.วิสามัญพิจาณาศึกษา ร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมูญว่าด้วย กกต. มีการแย่งตำแหน่งประธานกันกับ นายตวง อันทะไชย ว่า ตนยืนยันว่า ไม่ได้มีปัญหา กระบวนการเป็นไปตามปกติ โดยใช้การลงมติของกมธ. ซึ่งตนเป็นที่ประธานปรึกษา กรอบการทำงานก็จะเชิญผู้เกี่ยวข้องมาชี้แจงรายละเอียด ก่อนจะเริ่มเข้าสู่การพิจาณาเนื้อหารายมาตราในสัปดาห์ถัดไป เบื้องต้นมีประเด็นสำคัญที่ต้องพิจารณาคือ ผู้ตรวจการเลือกตั้ง กับกกต.จังหวัด ที่ยังมีความเห็นไม่ตรงกัน และในบทเฉพาะกาล เรื่องคุณสมบัติ กกต. ที่หากยึดตามรัฐธรรมนูญ ก็จะต้องมีกกต.พ้นจากตำแหน่ง 3 คน ทั้งนี้ ต้องดูร่างสุดท้ายที่ สนช.มีมติ หากเนื้อหาสอดคล้องกับร่างของกรธ.เป็นไปตามเจตนารมย์ของรัฐธรรมนูญก็ผ่าน แต่ถ้าไม่ ก็จะมีการตั้งกมธ.ร่วม จากทุกฝ่ายเพื่อพิจารณาอีก 25 วัน .-สำนักข่าวไทย