กรุงเทพฯ 14 เม.ย. – กระทรวงเกษตรฯ เตรียมชี้ชะตา 3 สารเคมี จับมือกรมอนามัย กรมควบคุมโรค และกรมการแพทย์ พิจารณาผลกระทบต่อสุขภาพ ส่วนพิษตกค้างและสิ่งแวดล้อมชงคณะกรรมการเฝ้าระวังวัตถุอันตรายใช้ข้อมูลทางวิชาการและหลักเกณฑ์ 12 ข้อตามมาตรฐาน FAO และ WHO
นายสุวิทย์ ชัยเกียรติยศ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า จากการเสวนาวิชาการ “การเกษตรไทยต้องพึ่งพาสารกำจัดศัตรูพืชจริงหรือ” จัดขึ้นโดยสมาคมวัชพืชแห่งประเทศไทย ประเด็นหนึ่งที่มีการนำเสนอจากผู้ที่เข้าร่วมเสวนาครั้งนี้ คือ สารเคมี 3 ชนิด ได้แก่ พาราควอต ไกลโฟเสต และคลอไพรีฟอส เป็นสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชอันตรายควรจะพิจารณายกเลิกการใช้หรือไม่ รวมทั้งผู้แทนเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืชแจ้งข้อคิดเห็นและแนวทางการจัดการสารเคมีทั้ง 3 ชนิดดังกล่าวของคณะกรรมการขับเคลื่อนปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง ซึ่งแต่งตั้งโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
ทั้งนี้ คณะกรรมการดังกล่าวเสนอแนวทางดำเนินการสารเคมีทั้ง 3 ชนิด ได้แก่ พาราควอท ที่ประชุมเสนอกำหนดระยะเวลายกเลิกการใช้ปี 2562 โดยไม่อนุญาตขึ้นทะเบียนเพิ่มและไม่ต่ออายุทะเบียน เนื่องจากเป็นสารที่มีพิษเฉียบพลันสูงและมากกว่า 40 ประเทศยกเลิกการใช้ ส่วนไกลโฟเสต ที่ประชุมเสนอจำกัดการใช้อย่างเข้มงวด โดยห้ามใช้สำหรับการเกษตรพื้นที่สูงและพื้นที่ต้นน้ำ ห้ามใช้บริเวณแม่น้ำ ลำคลอง และแหล่งน้ำและพื้นที่ใกล้เคียง รวมทั้งห้ามใช้ในพื้นที่สาธารณะและเขตชุมชน เนื่องจากองค์กรอนามัยโลกกำหนดให้เป็นสารที่น่าจะก่อมะเร็ง และคลอไพริฟอส ที่ประชุมเสนอยกเลิกการใช้ในบ้านเรือน ส่วนการใช้ทางการเกษตรกำหนดระยะเวลายกเลิกการใช้ปี 2562 โดยไม่อนุญาตขึ้นทะเบียนเพิ่มและไม่ต่ออายุทะเบียนและจำกัดการใช้อย่างเข้มงวดในภาคเกษตรห้ามใช้พืชผักและผลไม้โดยเด็ดขาด เนื่องจากพบการตกค้างของคลอร์ไพริฟอสอยู่ในกลุ่มสารเคมีที่ตกค้างสูงสุดเป็นอันดับ 2 รองจากคาร์เบนดาซิม และสหรัฐอเมริกา อังกฤษ และจีนออกข้อกำหนดห้ามใช้ในผักและผลไม้ทุกชนิดจนถึงหลายประเภท
นายสุวิทย์ กล่าวว่า กรมวิชาการเกษตรรับฟังข้อเสนอของคณะกรรมการฯ และแจ้งว่าจะนำข้อมูลที่คณะกรรมการฯ เสนอทั้งหมดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณา ได้แก่ ข้อมูลที่เกี่ยวกับอันตรายต่อสุขภาพ กรมวิชาการเกษตรจะให้กรมอนามัย กรมควบคุมโรค และกรมการแพทย์ ซึ่งมีความชำนาญเรื่องดังกล่าวพิจารณา ส่วนการใช้ทางการเกษตร พิษตกค้าง และด้านผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม กรมวิชาการเกษตรจะมอบหมายให้คณะทำงานดำเนินการเกี่ยวกับวัตถุอันตรายที่ต้องเฝ้าระวัง ซึ่งมีผู้แทนที่รับผิดชอบแต่ละสาขาวิชาพิจารณาข้อมูลทางวิชาการ โดยใช้หลักเกณฑ์การจัดวัตถุอันตรายเข้าอยู่ในรายการเฝ้าระวังของกรมวิชาการเกษตร 12 ข้อ ซึ่งหลักเกณฑ์ดังกล่าวเป็นไปตามมาตรฐาน FAO และ WHO โดยกำหนดให้การพิจารณาเสร็จภายในเดือนพฤษภาคม 2560.-สำนักข่าวไทย