ชัยนาท 13 เม.ย. – ที่ อ.สรรพยา จ.ชัยนาท ศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์ชัยนาท ได้เข้าไปส่งเสริมการเลี้ยงแพะเนื้อแทนการทำนาข้าว เนื่องจากแพะเนื้อเป็นที่ต้องการของตลาด สร้างรายได้ดีกว่าการทำนา และต้นทุนต่ำกว่า
แพะตัวผู้ในคอกนี้อายุ 4 เดือน อีกราว 2 เดือน จะขุนจนน้ำหนักถึง 25-30 กิโลกรัม ก็จะจับขายได้ คุณประเสริฐ กองคูณ ประธานกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงแพะ อ.สรรพยา จ.ชัยนาท กล่าวว่า เขาเลี้ยงแพะมา 15 ปี ก่อนหน้านั้นทำนาข้าว ประสบปัญหาโรค แมลง และราคาตกต่ำ จึงเปลี่ยนมาเลี้ยงแพะเนื้อ
ศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์ชัยนาท แนะนำให้เลี้ยงพันธุ์บอร์ ซึ่งแข็งแรง โตเร็ว ที่ฟาร์มของคุณประเสริฐ มีแพะ 400 ตัว
เกษตรกรที่ประสบปัญหาเดียวกันได้เข้ามารวมกลุ่มกัน 67 รายแล้ว มีแพะที่เลี้ยงอยู่ในกลุ่มรวมทั้งสิ้น 3,500 ตัว
จากการวิจัยร่วมกันของศูนย์ฯ และเกษตรกร พบว่า การทำนาต้นทุน 5,000 บาท/ไร่ ขณะที่แม่พันธุ์แพะเฉลี่ยตัวละ 5,000 บาท ปีหนึ่งแม่แพะให้ลูกเฉลี่ย 3 ตัว ขายเป็นเนื้อได้ตัวละ 2,500 บาท ยิ่งมีแม่พันธุ์มากก็ให้ลูกมาก รายได้สูงกว่าทำนา
การเลี้ยงแพะของกลุ่มนี้ดำเนินตามนโยบายลดต้นทุนการผลิต โดยศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์ชัยนาท สอนให้ทำอาหาร TMR หรืออาหารผสมครบส่วน ทั้งอาหารข้นและอาหารหยาบ ทำให้ไม่ต้องไปซื้อ ต้นทุนอาหารแพะต่อวัน ตัวละไม่ถึง 5 บาท
ที่สำคัญคือ ส่งเสริมให้ปรับเปลี่ยนนาข้าวมาปลูกนาหญ้าแพงโกลา ซึ่งเป็นอาหารที่มีคุณประโยชน์ต่อแพะมาก
เกษตรกรขายตัวผู้ เพื่อเป็นแพะเนื้อ และยังขายตัวเมียเป็นแม่พันธุ์ ราคาตั้งแต่ 4,000-30,000 บาท
ประธานกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงแพะ อ.สรรพยา กำลังประสานงานกับกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงแพะอื่นๆ ทั้งใน จ.ชัยนาท และจังหวัดใกล้เคียง เพื่อรวมกลุ่มกันจดทะเบียนเป็นแปลงใหญ่แพะเนื้อ เพื่อให้สามารถเข้าถึงปัจจัยการผลิตต่างๆ ได้ในราคาที่ถูกลงอีก ได้รับการส่งเสริมความรู้จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และรวมกลุ่มกันขาย ไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง ซึ่งจะทำให้ได้ราคาที่เหมาะสม. – สำนักข่าวไทย