ปภ. 12 เม.ย.- ศปถ.สรุปผลสถิติอุบัติเหตุทางถนน วันแรกเทศสงกรานต์ เกิดอุบัติเหตุ 409 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 33 ราย ผู้บาดเจ็บ 420 คน จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่ จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ อุบลราชธานี และนครราชสีมา จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ เชียงราย
พล.ท.ธเนศ กาลพฤกษ์ หัวหน้าฝ่ายกิจการพลเรือน ส่วนงานการรักษาความสงบเรียบร้อย คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานแถลงข่าวสรุปผลการดำเนินงานลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2560 ประจำวันที่ 11 เมษายน 2560 ซึ่งเป็นวันแรกของรณรงค์ป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2560 ภายใต้แนวคิด ” ขับรถมีน้ำใจ รักษาวินัยจราจร พบเกิดอุบัติเหตุ 409 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 33 ราย ผู้บาดเจ็บ 420 คน
พล.ท.ธเนศ กล่าวว่า สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เมาแล้วขับ ร้อยละ 45.48 ขับรถเร็ว ร้อยละ 24.94 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 77.80 ส่วนใหญ่เกิดในเส้นทางตรง ร้อยละ 65.28 บนถนนกรมทางหลวง ร้อยละ 36.67 ถนนใน อบต./หมู่บ้าน ร้อยละ 32.03 ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ช่วงเวลา 16.01 – 20.00 น. ร้อยละ 29.34 ผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มวัยแรงงาน ร้อยละ 46.36 โดยจังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่ 18 ครั้ง จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ อุบลราชธานี และนครราชสีมา 4 ราย จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ เชียงราย 17คน
พล.ท. ธเนศ กล่าวว่า สำหรับสถิติการเกิดอุบัติเหตุในวันแรกของการรณรงค์ ยังถือว่าอยู่ในกรอบที่สามารถควบคุมได้ แต่เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว การเกิดอุบัติเหตุสูงขึ้น แต่จำนวนผู้เสียชีวิตลดลง แต่ขอความร่วมมือประชาชนปฏิบัติตามหลัก 4 ห้าม 2 ต้อง เพื่อให้การเดินทางเกิดความปลอดภัย ซึ่งเป็นเรื่องที่รัฐบาลและ คสช. เน้นย้ำมาโดยตลอด ขณะนี้ มีประชาชนบางส่วนได้เดินทางกลับภูมิลำเนาบ้างแล้ว ซึ่งเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายได้อำนวยความสะดวกในการเดินทางให้กับประชาชนอย่างเต็มที่
พล.ท.ธเนศ กล่าวว่า ส่วนมาตรการเมาแล้วขับ จับยึดรถ ยังคงมีอยู่ เพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้รถใช้ถนน ส่วนคำสั่งตามมาตรา 44 เรื่องการเพิ่มประสิทธิภาพ พ.ร.บ.จราจร โดยเฉพาะห้ามนั่งท้ายกระบะ เป็นความปรารถนาดีของนายกรัฐมนตรี ต้องขอความร่วมมือประชาชนอย่านั่งขอบกระบะ เพราะอาจเกิดอันตราย นอกจากนี้ยังเพิ่มมาตรการคุมเข้มในการเรียกตรวจรถโดยสารสาธารณะ ทั้งประจำและไม่ประจำทาง เพื่อดูความพร้อมของพนักงานขับรถ ตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ และการคาดเข็มขัดนิรภัยทุกที่นั่ง ซึ่งเข้าใจว่าอาจจะทำให้ผู้โดยสารเกิดความไม่สะดวกสบายบ้าง แต่เพื่อความปลอดภัย
ด้านนายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กล่าวว่า ศปถ. ได้กำชับจังหวัด อำเภอและองค์กรปกครองท้องถิ่น เพิ่มความเข้มข้นในแผนบูรณาการป้องกันและลดอุบัติเหตุ ทั้งการสัญจรทางบก ทางน้ำ ทางราง และทางอากาศ และดำเนินมาตรการทางสังคม กำหนดกติกาชุมชน ในการใช้รถใช้ถนนอย่างปลอดภัย จัดโซนนิ่งเล่นน้ำสงกรานต์ ปราศจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อส่งเสริมการเล่นน้ำสฃกรานต์ตามประเพณี .-สำนักข่าวไทย