ปักกิ่ง, 6 ธ.ค. (ซินหัว) — เมื่อวันจันทร์ (5 ธ.ค.) ศูนย์เทคโนโลยีและวิศวกรรมเพื่อการใช้ประโยชน์อวกาศ สังกัดสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน ณ กรุงปักกิ่ง ได้รับตัวอย่างการทดลองทางวิทยาศาสตร์ในอวกาศ ชุดที่ 3 จากสถานีอวกาศเทียนกงของจีน หลังจากทีมนักบินอวกาศประจำภารกิจเสินโจว-14 (Shenzhou-14) กลับสู่โลก
ตัวอย่างข้างต้นประกอบด้วยหีบห่อรักษาความเย็นที่บรรจุข้าวและเธลเครส (Arabidopsis) และถุงบรรจุกล่องเก็บวัสดุ 4 กล่อง โดยตัวอย่างเมล็ดพันธุ์พืชทั้งสองชนิดผ่านกระบวนการเพาะปลูกในสถานีอวกาศฯ นาน 120 วัน ซึ่งคณะนักวิทยาศาสตร์จะวิเคราะห์ผลกระทบจากสภาวะไร้น้ำหนักในอวกาศต่อตัวอย่างเหล่านี้
ตู้ปฏิบัติการทดลองสำหรับวัสดุแบบไร้ภาชนะในโมดูลหลักเทียนเหอของสถานีอวกาศฯ เป็นตู้ปฏิบัติการทดลองสำหรับวัสดุแบบไร้ภาชนะตู้แรกของจีน และตู้ที่ 2 ของโลกที่ใช้ในวงโคจร โดยตู้ดังกล่าวถูกใช้งานในอวกาศนานกว่า 590 วัน และเสร็จสิ้นการทดลองวัสดุในวงโคจร 7 กล่อง
คณะนักวิทยาศาสตร์ได้ข้อมูลจำนวนมากจากการทดลองเหล่านี้ในวงโคจร ซึ่งจะช่วยให้พวกเขายกระดับการวิจัยเกี่ยวกับการพัฒนาวัสดุใหม่ๆ บนโลก
ทั้งนี้ แคปซูลส่งกลับของยานอวกาศเสินโจว-14 ซึ่งบรรทุกนักบินอวกาศจีน ได้แก่ เฉินตง หลิวหยาง และไช่ซวี่เจ๋อ เดินทางถึงพื้นโลก ณ ฐานลงจอดตงเฟิง เขตปกครองตนเองมองโกเลียในทางตอนเหนือของประเทศ เมื่อวันอาทิตย์ (4 ธ.ค.) หลังเสร็จสิ้นการปฏิบัติภารกิจบนสถานีอวกาศนาน 6 เดือน-สำนักข่าวซินหัว
คลิกเพื่ออ่านข่าวภาษาอังกฤษ https://english.news.cn/20221206/f547ca68a8954324b6a284633b052d5f/c.html
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง https://www.xinhuathai.com/china/324699_20221206
ขอบคุณภาพจาก Xinhua