กทม. 29 ก.ค. 63- ไทยประสบความสำเร็จเพิ่มประชากรเสือโคร่งในธรรมชาติ พบมีจำนวนกว่า 130-160 ตัว กรมอุทยานฯ ตั้งเป้าขยายประชากรเสือโคร่งใน 2 กลุ่มป่าใหญ่ ที่ยังศักภาพรองรับประชากรเสือได้
กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ร่วมกับคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดงานวันเสือโคร่งโลก ประจำปี 2563 ในหัวข้อ ป่าไทยไม่ไร้เสือ Roar for Thai Tigers ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เพื่อรณรงค์การอนุรักษ์เสือโคร่งทั่วโลก ให้สามารถดำรงชีวิตในผืนป่าธรรมชาติ และเพิ่มจำนวนมากขึ้นในอนาคต โดยมีนายพงศ์บุญย์ ปองทอง รองปลัดกระทรวงทรัยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานเปิดกิจกรรม
นายประกิต วงศ์ศรีวัฒนกุล รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวว่า จากการสำรวจโดยทีมวิจัยเสือโคร่ง กรมอุทยานแห่งชาติฯ ร่วมกับเครือข่ายอนุรักษ์ ใช้นวัตกรรมเครื่องติดตามปลอกคอสัญญานดาวเทียม และกล้องดักถ่ายภาพสัตว์ป่า ในแหล่งที่อยู่อาศัยของเสือโคร่งในผืนป่าของไทย พบว่าปัจจุบันมีประชากรเสือโคร่งในป่าธรรมชาติประมาณ 130 – 160 ตัว มากที่สุดในภูมิภาคอาเซียน และติดอันดับต้นของโลก ขณะที่กลุ่มป่าห้วยขาแข้ง-ทุ่งใหญ่นเรศวร มีประชากรเสือโคร่งมากที่สุดประมาณ 80 ตัว
ขณะที่กลุ่มป่าดงพญาเย็นเขาใหญ่ เป็นอีกพื้นที่ที่น่าจับตามอง ด้วยพบข้อมูลการอาศัยหากินของเสือโคร่งในป่าทับลาน และปางสีดา ที่เพิ่มจำนวนมากขึ้น ซึ่งกรมอุทยานแห่งชาติฯ มีแผนสำหรับการอนุรักษ์เสือโคร่งในผืนป่า โดยตั้งเป้าเพิ่มจำนวนเสือโคร่งใน 2 กลุ่มป่าใหญ่ ได้แก่ กลุ่มป่าดงพยาเย็นเขาใหญ่ กลุ่มป่าภูเขียว ซึ่งมีผืนป่าขนาดใหญ่ และแหล่งอาหารที่เหมาะสม เพิ่มโอกาสการขยายพันธุ์ของประชากรเสือในอนาคตได้ โดยเฉพาะกลุ่มป่าดงพญาเย็นเขาใหญ่ ที่ได้สร้างทางเชื่อมและอุโมงค์สัตว์ป่า ทำให้ผืนป่าทับลาน ปางสีดา และเขาใหญ่ เชื่อมเป็นกลุ่มป่าขนาดใหญ่ เป็นการเพิ่มโอกาสให้ประชากรสัตว์ป่า
รวมทั้งเสือโคร่งที่อยู่ในทับลานและปางสีดา อาจขยายประชากรมายังป่าเขาใหญ่ได้ในอนาคต นอกจากนี้การลาดตระเวณเชิงคุณภาพ รวมทั้งนโยบายป้องกันการล่า และค้าสัตว์ป่าของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ เป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้เสือในธรรมชาติได้รับการปกป้องดูแลอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ในปี 2553 สามารถเพิ่มมีประชากรเสือโคร่งจากเดิมให้ได้ร้อยละ 50 ภายในปี 2565
ด้านนายสมโภชน์ ดวงจันทราศิริ หัวหน้าสถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ กล่าวว่า จากการศึกษาวิจัยประชากรเสือโคร่ง มีข้อมูลสำคัญพบว่าในรอบ 10 ปี เสือรุ่นใหม่จากป่าห้วยขาแข้ง ได้ออกไปตั้งถิ่นฐานใหม่ในกลุ่มป่าใกล้เคียง เช่น ป่าแม่วงศ์ ป่าคลองลาน ป่าสลักพระ ป่าบริเวณเขื่อนศรีนครินทร์ รวมกว่า 10 ตัว เป็นสิ่งบ่งชี้ให้เห็นว่าประชากรเสือในห้วยขาแข้ง-ทุ่งใหญ่นเรศวร มีการขยายพันธุ์เพิ่มขึ้นอย่างมาก ทำให้เสือรุ่นใหม่ออกไปสร้างถิ่นฐานบริเวณอื่นที่มีพื้นที่ และแหล่งอาหารมากพอ .-สำนักข่าวไทย