ฉงชิ่ง, 18 มิ.ย. (ซินหัว) — หากไม่ใช่เพราะสายลมได้พัดพาเอาเม็ดทรายนับไม่ถ้วนถาโถมใส่ตัวเขา หวังจื่อเสียงคงแทบลืมไปเลยว่าตนเองกำลังเพาะปลูกอยู่ในทะเลทรายทากลามากัน ที่มีขนาดกว้างใหญ่ที่สุดในแผ่นดินจีน ทั้งยังเป็นหนึ่งในภูมิภาคที่แห้งแล้งที่สุดของโลก นวัตกรรมใหม่ที่เรียกว่า “เปลี่ยนทรายกลายเป็นดิน” ได้พลิกเปลี่ยนทรายในทะเลทรายให้กลายเป็นที่ดินที่เหมาะแก่การเพาะปลูกได้ด้วยราคาต้นทุนที่จับต้องได้ สภาพแวดล้อมที่โหดร้ายในทะเลทรายทากลามากัน (Taklimakan)ซึ่งอยู่ลึกเข้าไปในเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ของจีน ไม่เคยเอื้อต่อการเพาะปลูก แต่ไหนแต่ไรมาชาวบ้านจึงต้องพึ่งพาเสบียงอาหารจากมณฑลอื่น ทว่าหวังจื่อเสียงและเพื่อนร่วมงานจากมหาวิทยาลัยฉงชิ่งเจียวทงในนครฉงชิ่ง ได้แก้โจทย์นี้ด้วยนวัตกรรมใหม่ที่เรียกว่า “เปลี่ยนทรายกลายเป็นดิน” (desert soilization) และพวกเขาก็ได้พลิกเปลี่ยนทรายในทะเลทรายให้กลายเป็นที่ดินที่เหมาะแก่การเพาะปลูกได้ด้วยราคาต้นทุนที่จับต้องได้ หวังและคณะทำการจดสิทธิบัตรกระบวนการข้างต้น อันเป็นการผสมแป้งที่ทำจากเซลลูโลสพืชเข้ากับทรายแล้วนำไปใช้กับพื้นผิวทะเลทราย ซึ่งทำให้พื้นผิวทรายมีคุณสมบัติในการดูดซับน้ำ อากาศ และปุ๋ยได้เหมือนกับดิน แป้งพิเศษนี้ได้รับการพัฒนาขึ้นในปี 2013 โดยศาสตราจารย์อี้จื้อเจียนและคณะหลังทำการวิจัยอยู่นานหลายปี โดยศาสตราจารย์อี้เป็นนักวิทยาศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญด้านกลศาสตร์ของอนุภาค ของมหาวิทยาลัยฉงชิ่งเจียวทง เมื่อปี 2016 ทะเลทรายอูหลานปู้เหอในมองโกเลียใน ได้ทำการฟื้นฟูผืนทรายที่มีขนาดราวสองเท่าของสนามฟุตบอลด้วยวิธีการใหม่นี้ และพลิกผืนทรายสู่ผืนดินที่อุดมสมบูรณ์ได้สำเร็จ ทำให้ข้าว ข้าวโพด มะเขือเทศ แตงโม และดอกทานตะวัน ต่างงอกงามขึ้นเหนือผืนทราย นักวิทยาศาสตร์ค้นพบว่าการเพาะปลูกในผืนทรายแปลงทดลองนั้นใช้น้ำน้อยกว่าแต่กลับให้ผลผลิตสูงกว่าแปลงที่ไม่ได้ใช้เทคนิคดังกล่าว ต่อมาจึงมีการนำเทคโนโลยีนี้ไปทดสอบในหลายๆ พื้นที่ ผ่านการทดลองเพาะปลูกขนานใหญ่ โดยค่าใช้จ่ายในการฟื้นฟูผืนทรายด้วยเทคนิคนี้อยู่ระหว่าง 29,850-44,776 หยวน (ราว 1.44 – 2.17 แสนบาท) […]