จีนเผย 10 ความท้าทายวิทยาศาสตร์ด้าน ‘การบินในอวกาศ’
ไห่โข่ว, 22 พ.ย. (ซินหัว) — คณะนักวิทยาศาสตร์และวิศวกรด้านอวกาศของจีน เผยแพร่ความท้าทายด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 10 ประการ สำหรับสาขาการบินในอวกาศ ประจำปี 2022 ที่การประชุมว่าด้วยอวกาศของจีน (China Space Conference) ซึ่งจัดขึ้นนาน 4 วัน ณ นครไห่โข่ว เมืองเอกของมณฑลไห่หนาน (ไหหลำ) ทางตอนใต้ของจีน รายการความท้าทายดังกล่าว ประกอบด้วยพลังงานจากพลวัตของจักรวาล (cosmic dynamics) การค้นหาดาวเคราะห์นอกระบบที่อาศัยอยู่ได้และสัญญาณของสิ่งมีชีวิต เทคโนโลยีที่สำคัญสำหรับระบบขนส่งอวกาศแบบกระสวย การสังเกตการณ์และการป้องกันดาวเคราะห์น้อยใกล้โลก และการพัฒนาวัสดุสังเคราะห์แสงประดิษฐ์สำหรับการยังชีพนอกโลก เทคโนโลยีการถ่ายโอนพลังงานสูงแบบไร้สายระยะไกล การก่อสร้างบนพื้นผิวดวงจันทร์โดยใช้ตะกอนฝุ่นหิน (regolith) การควบคุมเครื่องบินข้ามสื่อ การทำงานร่วมบนกลุ่มดาวในอวกาศแบบอัตโนมัติและใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และการคาดการณ์วิวัฒนาการสนามการไหลของบรรยากาศชั้นบนโลกที่มีความแม่นยำสูง ถูกรวมเป็นความท้าทายในการสำรวจอวกาศเช่นกัน หวังเวย ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและพัฒนาของบริษัทวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอวกาศแห่งประเทศจีน ประกาศรายการความท้าทายดังกล่าวผ่านทางระบบวิดีโอระหว่างการประชุมฯ ซึ่งเริ่มต้นเมื่อวันจันทร์ (21 พ.ย.) หวังกล่าวว่า การปฏิวัติเทคโนโลยีรอบใหม่ซึ่งขับเคลื่อนด้วยพลังงานใหม่ วัสดุใหม่ และความฉลาดทางดิจิทัล กำลังยกระดับการขับเคลื่อนในภูมิทัศน์อวกาศระดับโลก โดยรายการความท้าทายเหล่านี้จะมีบทบาทสนับสนุนการวิจัยของจีนด้านวิทยาศาสตร์พื้นฐาน และความก้าวหน้าต่างๆ ในโครงการด้านวิศวกรรม -สำนักข่าวซินหัว […]