กทม. 12 ต.ค.-วิกฤติโควิด-19 ทำแรงงานสูญเสียรายได้ เกิดภาวะเครียด ทำให้สูบบุหรี่ลดลง เกือบร้อยละ 65 วางแผนงดสูบ ศ.นพ.รณชัย คงสกนธ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวในการแถลงข่าว “ปฏิรูปวิถีแรงงาน เลิกสูบ เลิกจน” จัดโดย ศจย.และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ว่า กลุ่มผู้ใช้แรงงานมีบทบาทหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ และบุหรี่เป็นปัจจัยหนึ่งของต้นตอปัญหาทางเศรษฐกิจในกลุ่มผู้ใช้แรงงาน ศจย. สนับสนุนให้มหาวิทยาลัยสวนดุสิตสำรวจพฤติกรรมการบริโภคยาสูบของกลุ่มผู้ใช้แรงงานทั้งในและนอกระบบ และจะนำผลสำรวจนี้มาพัฒนาประสิทธิภาพการทำงานควบคุมยาสูบในกลุ่มผู้ใช้แรงงานของประเทศให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยจะร่วมกับสมาพันธ์เครือข่ายแห่งชาติเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่เชิญชวนชาวแรงงานปฏิรูปวิถีชีวิต “เลิกสูบ เลิกจน” โดยขับเคลื่อนผ่านกลไกของสมาพันธ์จังหวัดในการส่งต่อคนอยากเลิกบุหรี่ไปยังสายเลิกบุหรี่ 1600 เพื่อสนับสนุนให้ผู้สูบบุหรี่สามารถเลิกบุหรี่ได้สำเร็จ ดร.ณัฐพล แย้มฉิม ประธานสวนดุสิตโพล กล่าวว่า ได้สำรวจพฤติกรรมการบริโภคยาสูบของกลุ่มผู้ใช้แรงงานทั้งในและนอกระบบจำนวน 1,098 คน ในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล เปรียบเทียบการสูบบุหรี่ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ระหว่างเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม 2563 กับช่วงหลังสถานการณ์โควิด-19 ทุเลาลงตั้งแต่เดือนมิถุนายนถึงสิงหาคม 2563 พบว่าช่วงสถานการณ์โควิด-19 กลุ่มผู้ใช้แรงงานที่สูบบุหรี่น้อย (1-5 มวนต่อวัน) ร้อยละ 17.76 มีการสูบบุหรี่น้อยลงหลังสถานการณ์โควิด-19 […]