อียูเลือกประธานคณะกรรมาธิการยุโรปคนเดิมนั่งวาระ 2

บรัสเซลส์ 28 มิ.ย.- ผู้นำชาติสมาชิกสหภาพยุโรปหรืออียู (EU) ตกลงเลือกนางอัวร์ซูลา ฟอน แดร์ ไลเอิน ดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการยุโรป ซึ่งเป็นหน่วยงานบริหารของอียู เป็นวาระที่ 2 ผู้นำอียู 27 ชาติ ซึ่งได้ประชุมสุดยอดที่กรุงบรัสเซลส์ของเบลเยียมเมื่อวานนี้ ได้เสนอชื่อบุคคลที่จะดำรงตำแหน่งสำคัญ 3 ตำแหน่งในช่วง 5 ปีข้างหน้า ประกอบด้วยนางฟอน แดร์ ไลเอิน ชาวเยอรมัน เป็นประธานคณะกรรมาธิการยุโรป นายอันโตนิโอ กอสตา อดีตนายกรัฐมนตรีโปรตุเกส เป็นประธานคณะมนตรียุโรป ซึ่งเป็นเวทีประชุมระดับผู้นำ และนางกายา กัลลาส นายกรัฐมนตรีเอสโตเนีย เป็นหัวหน้านโยบายต่างประเทศ แหล่งข่าวการทูตเผยว่า ทั้ง 3 คนได้รับเสียงสนับสนุนในวงกว้าง มีเพียงจอร์เจีย เมโลนี นายกรัฐมนตรีฝ่ายขวาของอิตาลีที่งดออกเสียงให้แก่ฟอน แดร์ ไลเอิน และออกเสียงคัดค้านกัลลาส และนายวิกตอร์ ออร์บาน นายกรัฐมนตรีฝ่ายขวาของฮังการีที่ออกเสียงคัดค้านฟอน แดร์ ไลเอิน และงดออกเสียงให้แก่กัลลาส อย่างไรก็ดี ฟอน แดร์ […]

ผู้นำอียูเตือนฮังการียกเลิกกฎหมายต้านกลุ่ม LGBT

บรัสเซลส์ 7 ก.ค. – ผู้นำสหภาพยุโรปเตือนว่า ฮังการีต้องยกเลิกกฎหมายห้ามโรงเรียนใช้สื่อการสอนที่มีเนื้อหาสนับสนุนกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ (LGBT) หรือจะต้องเผชิญกับกฎหมายของสหภาพยุโรปอย่างเต็มรูปแบบ นางอัวร์ซูลา ฟอน แดร์ ไลเอิน ประธานคณะกรรมาธิการสหภาพยุโรป หรืออียู กล่าวในที่ประชุมสภาอียูที่เมืองสตราสบูร์กของฝรั่งเศสว่า กฎหมายของฮังการีอ้างการคุ้มครองเด็กเพื่อกีดกันผู้คน เพราะเรื่องรสนิยมทางเพศ การกระทำดังกล่าวเป็นสิ่งที่น่าอับอาย ทั้งยังกล่าวถึงการอภิปรายกฎหมายของฮังการีในการประชุมสุดยอดผู้นำอียูในเดือนมิถุนายนว่า ไม่มีปัญหาใดสำคัญเทียบเท่าปัญหาที่กระทบต่อคุณค่าและตัวตนของมนุษย์ กฎหมายดังกล่าวขัดต่อการปกป้องชนกลุ่มน้อยและการเคารพสิทธิมนุษยชน นางฟอน แดร์ ไลเอิน ยังกล่าวว่า ฮังการีจะต้องเผชิญกับกฎหมายของอียูอย่างเต็มรูปแบบ หากยังไม่ยกเลิกกฎหมายดังกล่าว แต่ไม่ได้เผยรายละเอียดเพิ่มเติม อย่างไรก็ดี สมาชิกสภายุโรปหลายรายให้ความเห็นว่า ขั้นตอนดังกล่าวอาจหมายถึงการพิจารณาคดีของศาลยุติธรรมแห่งสหภาพยุโรปและคำสั่งอายัดกองทุนของอียูสำหรับรัฐบาลฮังการี ก่อนหน้านี้ นายกรัฐมนตรีวิกตอร์ ออร์บาน ของฮังการี ซึ่งอยู่ในตำแหน่งมาตั้งแต่ปี 2553 และเตรียมลงศึกเลือกตั้งในปีหน้า ได้ส่งเสริมแนวคิดอนุรักษ์นิยมและการต่อสู้ที่มากขึ้นเพื่อสนับสนุนค่านิยมของนิกายโรมันคาทอลิกแบบดั้งเดิมภายใต้แรงกดดันจากชาติตะวันตกที่มีแนวคิดเสรีนิยม ขณะที่รัฐบาลสเปนได้ผ่านร่างกฎหมายอนุญาตให้ประชาชนอายุ 14 ปีขึ้นไปมีสิทธิเปลี่ยนเพศของตนได้อย่างถูกกฎหมายเมื่อเดือนก่อน โดยไม่ต้องได้รับการวินิจฉัยทางการแพทย์หรือการใช้ฮอร์โมน นับเป็นประเทศใหญ่รายแรกของอียูที่เดินหน้าสนับสนุนสิทธิของกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ.-สำนักข่าวไทย

อียูประณามรัฐประหารในเมียนมา

บรัสเซลส์ 1 ก.พ.- สหภาพยุโรปหรืออียู (EU) ประณามการรัฐประหารยึดอำนาจในเมียนมา และเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ถูกบุกควบคุมตัวทั่วประเทศ อัวร์ซูลา ฟอน แดร์ ไลเอิน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป ซึ่งเป็นหน่วยงานบริหารของอียูทวีตวันนี้ว่า ขอประณามอย่างรุนแรงต่อการรัฐประหารในเมียนมา ขอเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ถูกควบคุมตัวทั้งหมดโดยทันทีไม่มีเงื่อนไข และต้องฟื้นฟูรัฐบาลพลเรือนที่ชอบด้วยกฎหมาย อันเป็นไปตามรัฐธรรมนูญเมียนมาและการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อเดือนพฤศจิกายน ด้านนายโจเซป บอร์เรลล์ หัวหน้านโยบายต่างประเทศของอียูออกแถลงการณ์ประณามการรัฐประหารว่า ประชาธิปไตยต้องคงอยู่ อย่างไรก็ดี บุคคลทั้งสองไม่ได้ระบุชัดเจนว่าจะดำเนินมาตรการใด ๆ กับกองทัพเมียนมาหรือไม่ อียูประกาศมาตรการคว่ำบาตรเมียนมาในปี 2561 จากเรื่องกองทัพสังหารชาวมุสลิงโรฮิงญา อีกทั้งยังคว่ำบาตรอาวุธกับเมียนมาด้วย อียูเป็นคู่ค้าใหญ่อันดับสามของเมียนมา และให้สิทธิพิเศษทางการค้าแก่เมียนมา รอยเตอร์คาดการณ์ว่า อียูอาจยกเลิกสิทธิพิเศษดังกล่าว แต่คงไม่เกิดขึ้นในเร็ว ๆ นี้.-สำนักข่าวไทย

...