มาเลเซียจะระงับส่งออกไก่ตั้งแต่ 1 มิ.ย.

กัวลาลัมเปอร์ 24 พ.ค. – นายกรัฐมนตรีอิสมาอิล ซาบรี ยาคอบ ของมาเลเซีย ประกาศเมื่อวันจันทร์ว่า มาเลเซียจะระงับส่งออกไก่เดือนละ 3.6 ล้านตัวตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายนเป็นต้นไป จนกว่าสถานการณ์ผลิตและราคาเนื้อไก่ในประเทศจะอยู่ในระดับคงที่ นายกรัฐมนตรีอิสมาอิล ระบุในแถลงการณ์ว่า รัฐบาลมาเลเซียต้องการแก้ปัญหาปริมาณและราคาเนื้อไก่ที่พุ่งสูงขึ้นจนส่งผลกระทบต่อประชาชนอย่างจริงจัง รัฐบาลให้ความสำคัญกับประชาชนเป็นอันดับแรกเสมอ ทั้งนี้ คำสั่งระงับส่งออกไก่มีขึ้นในขณะที่มาเลเซียกำลังเผชิญกับปัญหาขาดแคลนเนื้อไก่ ซึ่งทำให้ราคาเนื้อไก่พุ่งสูงขึ้น นอกจากนี้ มาเลเซียจะอนุญาตให้นำเข้าเนื้อไก่จากโรงฆ่าสัตว์ในต่างประเทศมากขึ้น และยกเลิกใบอนุญาตนำเข้าสัตว์ปีกจากต่างประเทศ เพื่อเพิ่มปริมาณเนื้อไก่ในประเทศ ข้อมูลจากสำนักงานปศุสัตว์ของกระทรวงเกษตรและอุตสาหกรรมอาหารมาเลเซียระบุว่า มาเลเซียส่งออกไก่กว่า 49 ล้านตัวในปี 2563 รวมถึงส่งออกเนื้อไก่และเนื้อเป็ดราว 42.3 ล้านตัน ขณะที่ข้อมูลจากสำนักงานอาหารของสิงคโปร์ระบุว่า สิงคโปร์นำเข้าเนื้อไก่จากมาเลเซียเกือบ 73,000 ตันในปี 2564 ซึ่งคิดเป็นอัตราสูงกว่าร้อยละ 30 ประกาศดังกล่าวของนายกรัฐมนตรีอิสมาอิลทำให้บริษัทนำเข้าเนื้อไก่ในสิงคโปร์หลายรายออกมาแสดงความวิตกกังวลเกี่ยวกับการหาช่องทางนำเข้าเนื้อไก่จากผู้ผลิตรายใหม่เพื่อทดแทนสัดส่วนที่หายไป เนื่องจากชาวสิงคโปร์นิยมบริโภคเนื้อไก่กันอย่างแพร่หลาย.-สำนักข่าวไทย

อินโดนีเซียเริ่มระงับส่งออกน้ำมันปาล์ม-ปาล์มน้ำมันวันนี้

จาการ์ตา 28 เม.ย. – อินโดนีเซียเริ่มระงับส่งออกน้ำมันปาล์มและปาล์มน้ำมันอย่างสิ้นเชิงตั้งแต่วันนี้ เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำมันพืชในประเทศที่ทำให้ราคาน้ำมันพืชพุ่งสูงขึ้น หลังจากที่ก่อนหน้านี้เคยประกาศว่าจะระงับการส่งออกน้ำมันปาล์มเพียงอย่างเดียว นายแอร์ลังกา ฮาร์ตาร์โต รัฐมนตรีประสานงานกิจการเศรษฐกิจของอินโดนีเซีย เผยเมื่อช่วงค่ำวันพุธว่า อินโดนีเซีย จะระงับการส่งออกผลิตภัณฑ์ทุกชนิดที่เกี่ยวข้องกับปาล์มน้ำมัน ซึ่งรวมถึงปาล์มดิบด้วย ขณะที่ประธานาธิบดีโจโก วิโดโด ของอินโดนีเซีย ระบุว่า รัฐบาลกำลังให้ความสำคัญกับการจัดการปริมาณน้ำมันพืชให้เพียงพอต่อประชากร 270 ล้านคนของอินโดนีเซียเป็นลำดับแรก ในฐานะที่อินโดนีเซียเป็นประเทศผู้ส่งออกน้ำมันปาล์มรายใหญ่ที่สุดของโลก การประสบปัญหาขาดแคลนน้ำมันพืชที่ใช้ประกอบอาหารถือเป็นเรื่องที่ไม่ควรเกิดขึ้น ทั้งนี้ รัฐบาลอินโดนีเซียได้วางแผนกลับมาส่งออกน้ำมันปาล์มอีกครั้งเมื่อราคาน้ำมันปาล์มในประเทศลดลงเหลือลิตรละ 14,000 รูเปียห์ (33 บาท) โดยที่ในขณะนี้ราคาน้ำมันปาล์มในประเทศพุ่งขึ้นไปที่ลิตรละ 26,000 รูเปียห์ (62 บาท) ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา อินโดนีเซียเป็นผู้ผลิตน้ำมันปาล์มคิดเป็นร้อยละ 60 ของปริมาณทั้งหมดในตลาดโลก โดยที่มีอินเดีย จีน สหภาพยุโรป หรืออียู และปากีสถานเป็นประเทศนำเข้าน้ำมันปาล์มรายใหญ่จากอินโดนีเซีย ทั้งนี้ ปัญหาขาดแคลนน้ำมันปาล์มในอินโดนีเซียที่เกิดขึ้นมายาวนานหลายเดือนเป็นผลมาจากกฎหมายที่ไม่รัดกุมและความไม่เต็มใจของผู้ผลิตน้ำมันปาล์ม ซึ่งไม่อยากนำสินค้าวางขายในประเทศและเน้นการส่งออกไปขายต่างประเทศแทน เนื่องจากเป็นช่วงที่ราคาน้ำมันพืชในตลาดต่างประเทศพุ่งสูงขึ้นจนทำให้ผู้ผลิตได้กำไรมากกว่า.-สำนักข่าวไทย

...