fbpx

ยานสำรวจรัสเซียจะเข้าวงโคจรดวงจันทร์วันนี้

มอสโก 16 ส.ค.- ยานสำรวจลูนา-25 (Luna-25) ของรัสเซียจะเข้าสู่วงโคจรของดวงจันทร์ในวันนี้ ตามตารางขององค์การอวกาศรัสเซียหรือ รอสคอสมอส (Roscosmos) ยานลูนา-25 หนักประมาณ 800 กิโลกรัมทะยานขึ้นสู่อวกาศด้วยจรวดโซยุซเมื่อวันที่ 11 สิงหาคมจากศูนย์วอสตอชนี คอสโมโดรม (Vostochny Cosmodrome) ทางตะวันออกไกลของรัสเซีย เป็นภารกิจสำรวจดวงจันทร์ของรัสเซียครั้งแรกนับจากปี 2519 ยานจะโคจรอยู่เหนือพื้นผิวดวงจันทร์ประมาณ 100 กิโลเมตร แล้วจะลงจอดในวันจันทร์หน้าในจุดที่อยู่ทางเหนือของหลุมอุกกาบาตโบกุสลัฟสกี (Boguslawsky crater) บริเวณขั้วใต้ของดวงจันทร์ โดยจะปฏิบัติภารกิจอยู่บนดวงจันทร์นาน 1 ปี ด้วยการเก็บตัวอย่างและวิเคราะห์ดินบนดวงจันทร์ รอสคอสมอสแจ้งว่า กล้องที่ติดตั้งบนยานลูนา-25 ได้ถ่ายภาพระยะไกลของโลกและดวงจันทร์ขณะยานเดินทางอยู่ในอวกาศ รัสเซียเผยว่า จะเดินหน้าแผนการสำรวจดวงจันทร์ของตนเอง แม้ว่าองค์การอวกาศยุโรปประกาศว่า จะไม่ร่วมมือกับรัสเซียเรื่องภารกิจอวกาศในอนาคต เพราะรัสเซียทำสงครามในยูเครน.-สำนักข่าวไทย

รัสเซียส่งยานไปสำรวจดวงจันทร์ครั้งแรกในรอบเกือบ 50 ปี

รัสเซียปล่อยจรวดเพื่อส่งยานอวกาศไปสำรวจดวงจันทร์เป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 50 ปี ในวันนี้ ซึ่งเป็นภารกิจที่กำหนดไว้เพื่อให้เกิดแรงผลักดันใหม่ ๆ ใน อุตสาหกรรมอวกาศของรัสเซียที่เงียบเหงามานานและยังไม่ได้รับผลกระทบจากการคว่ำบาตรตั้งแต่เกิดความชัดแย้งกับยูเครน

รัสเซียเปิดตัวโมเดลสถานีอวกาศที่จะสร้างเอง

มอสโก 15 ส.ค. – รัสเซียเปิดตัวโมเดลสถานีอวกาศที่วางแผนสร้างขึ้นเองเป็นครั้งแรกในงานจัดแสดงอุตสาหกรรมทางทหารที่จัดขึ้นนอกกรุงมอสโกเมื่อวันจันทร์ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการถอนตัวจากสถานีอวกาศนานาชาติ หรือไอเอสเอส องค์การอวกาศสหพันธ์รัสเซีย หรือรอสคอสมอส เปิดตัวโมเดลสถานีอวกาศที่รัสเซียวางแผนสร้างขึ้นเอง หรือที่สื่อของทางการรัสเซียมักเรียกกันว่า ‘รอสส์’ (ROSS) ในงานจัดแสดงอุตสาหกรรมทางทหาร ‘อาร์มี-2022’ (Army-2022) ที่จัดขึ้นนอกกรุงมอสโกเมื่อวันจันทร์ รอสคอสมอสระบุในแถลงการณ์ว่า ภารกิจสร้างสถานีอวกาศแห่งใหม่ของรัสเซียจะแบ่งออกเป็น 2 ระยะ แต่ไม่ได้เปิดเผยวันที่แน่นอน ระยะแรกจะเป็นการส่งโมดูล 4 โมดูลขึ้นไปเริ่มปฏิบัติการ ส่วนระยะที่สองจะส่งโมดูลที่เหลืออีก 2 โมดูลและชิ้นส่วนอื่น ๆ ที่จำเป็นในการปฏิบัติงาน ซึ่งจะทำให้เพียงพอต่อการทำงานของนักบินอวกาศสูงสุด 4 คน นอกจากนี้ สถานีอวกาศแห่งใหม่ของรัสเซียจะช่วยให้นักบินอวกาศมองเห็นโลกในมุมที่กว้างขึ้นกว่าเดิมเพื่อวัตถุประสงค์ด้านการติดตามและเฝ้าระวัง ในขณะเดียวกัน สื่อของทางการรัสเซียคาดการณ์ว่า รัสเซียจะเริ่มเข้าสู่แผนสร้างสถานีอวกาศระยะแรกในช่วงปี 2568-2569 และจะเสร็จสิ้นกระบวนการสร้างระยะแรกภายในปี 2573 จากนั้น จะเริ่มแผนระยะสองและระยะสุดท้ายในปี 2573-2578 ก่อนหน้านี้ นายยูริ บอริซอฟ ผู้อำนวยการรอสคอสมอส ซึ่งเพิ่งได้รับแต่งตั้งจากประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ในเดือนกรกฎาคม เผยว่า รัสเซียจะถอนตัวจากสถานีอวกาศนานาชาติหลังปี 2567  แต่องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติของสหรัฐ […]

รัสเซียเล็งถอนตัวจากสถานีอวกาศนานาชาติ

มอสโก 27 ก.ค. – รัสเซียระบุว่า จะถอนตัวจากสถานีอวกาศนานาชาติ หรือไอเอสเอส หลังปี 2567 และจะสร้างสถานีอวกาศเป็นของตัวเอง นายยูริ บอริซอฟ ผู้อำนวยการองค์การอวกาศสหพันธ์รัสเซีย หรือรอสคอสมอส ที่เพิ่งเข้ารับตำแหน่งในเดือนนี้ เผยในระหว่างการหารือกับประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซียว่า รอสคอสมอสได้ตัดสินใจถอนตัวจากสถานีอวกาศนานาชาติตั้งแต่หลังปี 2567 เป็นต้นไป และจะเริ่มสร้างสถานีอวกาศของรัสเซียเอง ทั้งยังระบุว่า โครงการสร้างสถานีอวกาศเป็นเป้าหมายสำคัญสูงสุดของรอสคอสมอส ขณะที่ประธานาธิบดีปูตินกล่าวสั้น ๆ หลังจากที่นายบอริซอฟพูดจบว่า “ดีแล้ว” บรรษัทแพร่ภาพกระจายเสียงอังกฤษ หรือบีบีซี รายงานว่า ขณะนี้ ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าการตัดสินใจถอนตัวของรัสเซียจะส่งผลกระทบต่ออนาคตของสถานีอวกาศนานาชาติอย่างไร ขณะที่องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติของสหรัฐ หรือนาซา ระบุว่า ยังไม่ได้รับเอกสารแจ้งเรื่องการถอนตัวของรัสเซียอย่างเป็นทางการ ส่วน ดร. เลรอย เจียว อดีตหัวหน้าสถานีอวกาศนานาชาติและอดีตนักบินอวกาศของสหรัฐ เชื่อว่า การถอนตัวจากสถานีอวกาศนานาชาติของรัสเซียเป็นเรื่องที่ไม่น่าเกิดขึ้นได้และเป็นการเล่นแง่ของรัสเซีย เพราะรัสเซียไม่มีเงินมากพอที่จะสร้างสถานีอวกาศเป็นของตัวเอง นอกจากนี้ การสร้างสถานีอวกาศต้องใช้เวลานานหลายปี หากรัสเซียเลือกที่จะถอนตัวจริง ก็เป็นทางเลือกที่ไม่เหลืออะไรเลย สถานีอวกาศนานาชาติเป็นโครงการร่วมกันระหว่างหน่วยงานด้านอวกาศ 5 หน่วยจากประเทศต่าง ๆ ได้แก่ นาซาของสหรัฐ […]

รัสเซียว่าความร่วมมือด้านอวกาศจะเกิดขึ้นเมื่อเลิกลงโทษ

นายดิมิทรี โรโกซิน ผู้อำนวยการองค์การด้านอวกาศ “รอสคอสมอส” ของรัสเซียกล่าววันนี้ว่า การรื้อฟื้นความสัมพันธ์ฉันท์ปกติระหว่างหุ้นส่วนในสถานีอวกาศนานาชาติ หรือ ไอเอสเอสและโครงการร่วมด้าอวกาศอื่น ๆ จะกลับมาเป็นไปได้อีกครั้งเมื่อชาติตะวันตกยกเลิกมาตรการลงโทษรัสเซียแล้วเท่านั้น

เผยรัสเซียปล่อยจรวด “อังการา เอ5” สู่อวกาศสำเร็จ

มอสโก 14 ธ.ค. – รัสเซียประสบความสำเร็จในการทดสอบปล่อยจรวดขนส่งของหนักขึ้นสู่อวกาศหลังหยุดพัฒนาไปถึง 6 ปี ซึ่งเป็นโครงการที่ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซียระบุว่า มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อความมั่นคงของรัสเซีย กระทรวงกลาโหมรัสเซียและรอสคอสมอส สำนักงานอวกาศรัสเซียเผยวันนี้ว่า การทดสอบปล่อยจรวดอังการา เอ5 ที่ศูนย์ปล่อยยานอวกาศในเมืองพลีเซตส์ค ทางตะวันตกเฉียงเหนือของรัสเซียประสบความสำเร็จด้วยดี รอยเตอร์ตั้งข้อสังเกตว่า ช่วงหลายปีมานี้รอสคอสมอสประสบความล้มเหลวหลายต่อหลายครั้งและเผชิญกับข้อกล่าวหาทุจริตคอรัปชั่นสุดอื้อฉาวที่รวมถึงการสร้างฐานปล่อยจรวดวอสตอกนี ทางตะวันออกไกลของรัสเซีย หลังบริษัทผู้รับเหมาถูกกล่าวหาว่า ยักยอกเงินรัฐบาล ทางการรัสเซียได้ทดสอบการปล่อยจรวดอังการา เอ5 ขึ้นสู่อวกาศครั้งแรกในปี 2557 และพัฒนาจรวดดังกล่าวที่สามารถบรรทุกวัตถุน้ำหนักกว่า 20 ตันเข้าสู่วงโคจรแทนที่จรวดโปรตอน-เอ็มที่ประสบความล้มเหลว โดยจะประกาศเปิดตัวแท่นปล่อยจรวดในปีหน้า อย่างไรก็ดี จรวดอังการาประสบปัญหาความล่าช้าในการผลิตและปัญหาทางเทคนิคที่รวมถึงการพบข้อผิดพลาดในระบบเครื่องยนต์ที่นักวิทยาศาสตร์ระบุว่าอาจทำลายจรวดขณะขึ้นสู่อวกาศ. -สำนักข่าวไทย

...