fbpx

เด็กดื่มนมขวดอาจกินไมโครพลาสติกเข้าไปด้วย

ปารีส 20 ต.ค.- ผลการวิจัยใหม่เตือนว่า ทารกที่ดื่มนมจากขวดอาจได้รับไมโครพลาสติกเข้าไปด้วย ตอกย้ำอันตรายของผลิตภัณฑ์พลาสติกจำนวนมหาศาลที่ปะปนในอาหาร มีหลักฐานชัดเจนมากขึ้นว่าคนรับประทานไมโครพลาสติกที่แตกตัวจากพลาสติกชิ้นใหญ่ แต่ยังไม่มีงานวิจัยเรื่องผลกระทบต่อสุขภาพมากนัก คณะนักวิจัยในไอร์แลนด์เผยผลการศึกษาในวารสารเนเจอร์ฟูด วิเคราะห์อัตราที่ไมโครพลาสติกปล่อยออกมาจากขวดนมทารกหรือภาชนะผลิตจากโพลีโพรไพลีน หรือพีพี (PP) 10 ประเภทเป็นเวลา 21 วัน พบว่าขวดนมปล่อยไมโครพลาสติก 1.3-16.2 ล้านไมโครพาร์ติเคิลต่อลิตร จากนั้นนำไปสร้างแบบจำลองที่ทารกทั่วโลกจะได้รับไมโครพลาสติกจากการดื่มนมจากขวด อ้างอิงจากอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่โดยเฉลี่ยในระดับประเทศ ประเมินได้ว่า ทารกที่ดื่มนมจากขวดอาจได้รับไมโครพลาสติก 1.6 ล้านไมโครพาร์ติเคิลทุกวันในช่วง 12 เดือนแรกเกิด ผลการศึกษาพบด้วยว่า การฆ่าเชื้อและอุ่นด้วยน้ำร้อนมีผลต่อการปล่อยไมโครพลาสติกมากที่สุด จาก 0.6 ล้านพาร์ติเคิลต่อลิตรที่อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียสเป็น 55 ล้านพาร์ติเคิลต่อลิตรที่อุณหภูมิ 95 องศาเซลเซียส และพบว่าทารกในประเทศพัฒนาแล้วเสี่ยงได้รับมากที่สุดคือ 2.3 ล้านพาร์ติเคิลต่อวันในอเมริกาเหนือ และ 2.6 ล้านพาร์ติเคิลต่อวันในยุโรป เนื่องจากมีอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมมารดาต่ำกว่าประเทศกำลังพัฒนา คณะนักวิจัยยืนยันว่า ไม่ได้ต้องการทำให้พ่อแม่กังวลเรื่องไมโครพลาสติกจากขวดนม เพราะยังไม่ทราบผลกระทบทางสุขภาพและเป็นสิ่งที่กำลังเดินหน้าศึกษาอยู่ พร้อมกับแนะนำวิธีที่จะช่วยลดการปล่อยไมโครพลาสติกจากภาชนะพลาสติก เช่น ใช้น้ำเย็นฆ่าเชื้อแล้วล้างขวดนม เตรียมนมผงในภาชนะที่ไม่ใช่พลาสติกก่อนเทลงขวด.-สำนักข่าวไทย

...