อนามัยโลกคาดยุโรปใกล้สิ้นสุดการระบาดของโอไมครอน

เจนีวา 24 ม.ค. – องค์การอนามัยโลกระบุว่า เชื้อโควิดสายพันธุ์โอไมครอนทำให้การระบาดของโรคโควิด-19 เข้าสู่ระยะใหม่ และอาจทำให้การระบาดของโรคดังกล่าวในทวีปยุโรปสิ้นสุดลง แต่เตือนว่าอาจเกิดการกลายพันธุ์ของเชื้อโควิดสายพันธุ์ใหม่ขึ้นอีกในขณะที่ทั่วโลกกำลังเผชิญกับการระบาดของสายพันธุ์โอไมครอนอยู่ นพ. ฮานส์ คลูเกอ ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลกประจำภูมิภาคยุโรป เผยเมื่อวันอาทิตย์ตามเวลาท้องถิ่นว่า ทวีปยุโรปมีแนวโน้มที่จะเข้าสู่จุดสิ้นสุดการระบาดของโรคโควิด-19 โดยคาดว่าจะมีชาวยุโรปร้อยละ 60 ติดเชื้อโควิดสายพันธุ์โอไมครอนภายในเดือนมีนาคม และเมื่อการระบาดของสายพันธุ์ดังกล่าวในทวีปยุโรปลดลง คนทั่วโลกก็จะมีภูมิคุ้มกันเป็นเวลาหลายสัปดาห์หรือหลายเดือนจากการฉีดวัคซีนโควิดและการมีภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติที่เกิดขึ้นหลังติดเชื้อ รวมถึงการสิ้นสุดฤดูหนาวในทวีปยุโรป เขาคาดการณ์ว่า ทวีปยุโรปจะมีการระบาดลดลงก่อนที่จะกลับมาระบาดอีกครั้งในช่วงปลายปีนี้ ซึ่งเป็นช่วงเข้าสู่ฤดูหนาว แต่การระบาดดังกล่าวอาจไม่เกิดขึ้นอีกก็ได้ อย่างไรก็ดี นพ. คลูเกอ เตือนว่ายังเร็วเกินไปที่จะตัดสินให้โรคโควิด-19 เป็นโรคเฉพาะถิ่น เนื่องจากเชื้อไวรัสดังกล่าวได้สร้างความประหลาดใจให้ทั่วโลกมากแล้วหลายครั้ง ทุกคนจึงจำเป็นต้องระมัดระวังตัวเองต่อไป ทั้งยังระบุเพิ่มเติมว่า อาจเกิดการกลายพันธุ์ของเชื้อโควิดสายพันธุ์ใหม่ขึ้นอีกในขณะที่ทั่วโลกกำลังเผชิญกับการระบาดของสายพันธุ์โอไมครอนอยู่. -สำนักข่าวไทย

ยุโรปเสี่ยงโควิด-ไข้หวัดใหญ่ระบาดยืดเยื้อพร้อมกัน

บรัสเซลส์ 17 ม.ค.- ยุโรปกำลังมีผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่เพิ่มขึ้นในอัตราเร็วกว่าที่คาด จุดกระแสวิตกว่าภูมิภาคนี้อาจเผชิญกับการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่และโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 แบบยืดเยื้อในเวลาเดียวกัน ข้อมูลของสหภาพยุโรปหรืออียู (EU) ระบุว่า ฤดูหนาวปีที่แล้วยุโรปแทบไม่มีผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่ที่คร่าชีวิตคนทั่วโลกปีละ 650,000 คน เพราะใช้มาตรการล็อกดาวน์ บังคับสวมหน้ากากอนามัย และรักษาระยะห่างช่วงโควิดระบาดหนัก แต่ขณะนี้สถานการณ์เปลี่ยนไปเพราะหลายประเทศผ่อนคลายมาตรการจำกัดเนื่องจากมีคนฉีดวัคซีนอย่างกว้างขวางแล้ว ข้อมูลของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคยุโรปหรืออีซีดีซี (ECDC) และองค์การอนามัยโลกพบว่า ตั้งแต่กลางเดือนธันวาคม 2564 เป็นต้นมา ยุโรปมีผู้ติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่มากกว่าที่คาดไว้ ผู้ป่วยที่ต้องอยู่ในหอผู้ป่วยวิกฤตหรือไอซียู (ICU) เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในเดือนธันวาคม จนไปสูงสุดที่ 43 คนในสัปดาห์สุดท้ายของเดือน แม้ต่ำกว่าช่วงปี 2561 ที่มีผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ในไอซียูไม่ต่ำกว่าสัปดาห์ละ 400 คน แต่ถือว่าเพิ่มขึ้นมากเมื่อเทียบกับปี 2563 ที่มีผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ในไอซียูเพียงรายเดียวตลอดทั้งเดือนธันวาคม ผู้เชี่ยวชาญของอีซีดีซีเตือนว่า การยกเลิกมาตรการจำกัดโควิดในฤดูใบไม้ผลิอาจทำให้เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ในยุโรปแพร่ระบาดยืดเยื้อไปจนถึงฤดูร้อน จากปกติที่มักสิ้นสุดในเดือนพฤษภาคม การระบาดพร้อมกันของโควิดและไข้หวัดใหญ่อาจเพิ่มภาระให้แก่ระบบสาธารณสุขที่ตึงตัวอยู่แล้ว นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องวัคซีนที่ใช้อยู่ในปีนี้ ซึ่งผลิตจากการประเมินสายพันธุ์เมื่อปีก่อนที่มีผู้ป่วยจำนวนน้อย ไม่สามารถต้านทานสายพันธุ์เอช3 (H3) ซึ่งเป็นสายพันธุ์หลักที่กำลังแพร่ในยุโรปขณะนี้ และเป็นสายพันธุ์ที่ทำให้ผู้สูงอายุป่วยหนัก.-สำนักข่าวไทย

คาดยุโรปจะมีภูมิคุ้มกันหมู่ต่อโควิด-19 ภายใน ก.ค.

ปารีส 22 มี.ค.- สหภาพยุโรปหรืออียู (EU) คาดว่า คนในอียูจะมีภูมิคุ้มกันหมู่ต่อโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ภายในเดือนกรกฎาคม เพราะโครงการฉีดวัคซีนจะเดินหน้าเร็วขึ้น เนื่องจากจะได้รับวัคซีนเพิ่มขึ้นในเร็ว ๆ นี้ นายเทียรี เบรตง กรรมาธิการอียูด้านตลาดภายในให้สัมภาษณ์สถานีโทรทัศน์ฝรั่งเศสว่า ขอให้ใช้วันที่มีความหมายเชิงสัญลักษณ์คือวันชาติฝรั่งเศส 14 กรกฎาคมว่า ภายในวันดังกล่าว อียูน่าจะมีภูมิคุ้มกันหมู่ต่อโรคโควิด-19 ทั่วทั้งภูมิภาค ขณะนี้อียูกำลังอยู่ในช่วงสุดท้ายก่อนเข้าถึงเส้นชัย เพราะการเอาชนะโรคนี้มีเพียงวิธีเดียวคือ การฉีดวัคซีน และวัคซีนกำลังจะมาถึง เขามั่นใจว่าอียูจะได้รับวัคซีนอีก 300-350 ล้านโดสระหว่างเดือนมีนาคมถึงมิถุนายน นอกจากนี้โรงงาน 55 โรงในยุโรปก็กำลังเร่งผลิตวัคซีนอยู่ เอเอฟพีระบุว่า จนถึงขณะนี้แอสตราเซนเนกาส่งมอบวัคซีนให้อียูได้เพียงร้อยละ 30 ของที่รับปากว่าจะส่งมอบให้ 90 ล้านโดสในไตรมาสแรกของปีนี้ อียูซึ่งกำลังรับมือกับการแพร่ระบาดระลอกสามเผชิญอุปสรรคจากการที่หลายประเทศระงับการฉีดวัคซีนแอสตราเซนเนกา หลังจากมีรายงานเรื่องผู้รับการฉีดเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตัน.-สำนักข่าวไทย

โพลชี้ยุโรปมั่นใจลดลง วัคซีนแอสตราเซนเนกา

ผลสำรวจความเห็นชี้ว่า ประชาชนส่วนใหญ่ของสเปน เยอรมนี ฝรั่งเศส และอิตาลีเชื่อมั่นในความปลอดภัยของวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ของแอสตราเซนเนกาลดลงอย่างมาก เนื่องจากรายงานภาวะลิ่มเลือดอุดตันที่เชื่อมโยงวัคซีนดังกล่าว และมีหลายประเทศที่สั่งระงับใช้วัคซีนชั่วคราว

...