ภัยหนาวในรัฐเทกซัสทำให้เต่าทะเลหลายพันตัวเกยตื้น

เทกซัส 18 ก.พ. – ภัยหนาวฉับพลันในรัฐเทกซัสของสหรัฐทำให้เต่าทะเลราว 4,700 ตัวที่ไม่คุ้นชินกับอุณหภูมิที่ลดลงอย่างรวดเร็วถูกคลื่นซัดเข้ามาเกยตื้นบนชายหาดของเกาะเซาท์ปาเดร บนชายฝั่งตอนใต้ของรัฐ กลุ่มอาสาสมัครช่วยกันขนย้ายฝูงเต่าทะเลราว 4,700 ตัว ไปไว้ในอ่างและบ่อเลี้ยงในศูนย์ประชุมของเกาะเซาท์ปาเดร ก่อนปล่อยพวกมันกลับสู่ท้องทะเลอีกครั้งเมื่อน้ำทะเลอุ่นขึ้นกว่านี้ ผู้อำนวยการบริหารขององค์กรส่งเสริมการท่องเที่ยวและการจัดประชุมสัมมนาของเกาะเซาท์ปาเดรได้เผยแพร่คลิปวิดีโอกลุ่มอาสาสมัครกำลังช่วยกันวางเต่าบนรถเข็นอย่างระมัดระวัง และมีฝูงเต่าหลากหลายขนาดนอนกองอยู่บนลานขององค์กร เขาระบุว่า เต่าทะเลมีอาการหนาวสั่น ซึ่งเป็นภาวะที่สัตว์เลือดเย็นมีอุณหภูมิร่างกายต่ำผิดปกติจนเซื่องซึมและไม่สามารถเคลื่อนที่ได้เมื่ออุณหภูมิรอบตัวลดต่ำลง ขณะที่ผู้อำนวยการบริหารของซี เทอร์เทิล อิงค์ (Sea Turtle Inc) ศูนย์อนุรักษ์และวิจัยเต่าทะเลของรัฐเทกซัสที่เป็นผู้ควบคุมภารกิจช่วยเหลือเต่าทะเลในครั้งนี้กล่าวว่า เหตุการณ์เช่นนี้ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เพราะปกติแล้วมีเต่าทะเลเพียง 100-500 ตัวเท่านั้น ที่ถูกคลื่นซัดจนเกยตื้นบริเวณชายหาดทางใต้ของรัฐในฤดูหนาว  ในขณะเดียวกัน ชาวรัฐเทกซัสหลายล้านคนยังคงใช้ชีวิตท่ามกลางความหนาวเหน็บโดยที่เครื่องทำความร้อนไม่สามารถใช้งานได้ เนื่องจากเหตุไฟดับที่เกิดขึ้นจากภัยหนาวฉับพลันจนทำให้อุณหภูมิลดต่ำลงจากปกติอย่างมาก.-สำนักข่าวไทย

ส่งซากเต่าทะเลเกยชายฝั่งกระบี่พิสูจน์รอยแผล

กระบี่ 27 พ.ย.-  เต่าทะเลขนาดใหญ่เกยตายชายฝั่งท่าเรือแหลมสัก-กระบี่ พบบาดแผลคล้ายใบจักรเรือ ส่งซากพิสูจน์ที่ศูนย์วิจัยฯ ภูเก็ต คาดเป็นเต่าหญ้าสัตว์สงวนและคุ้มครอง นายศักดา สุขเกษม หัวหน้ากลุ่มบริหารจัดการด้านการประมง สำนักงานประมงจังหวัดกระบี่ ได้รับรายงานจาก อบต.แหลมสัก อ.อ่าวลึก พบซากเต่าทะเลขนาดใหญ่เกยชายฝั่งท่าเทียบเรือน้ำลึกแหลมสัก คาดว่าเป็นเต่าหญ้าหรือเต่าสังกะสี วัดขนาดกระดองกว้าง 50 เซนติเมตร ความยาวประมาณ 70 เซนติเมตร น้ำหนักกว่า 50 กิโลกรัม มีบาดแผลบริเวณคอคล้ายถูกของมีคมอาจเป็นใบจักรเรือยนต์ สภาพเริ่มส่งกลิ่นเหม็น คาดว่าตายมาประมาณ 1 วัน ขณะนี้ได้ส่งไปพิสูจน์ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามัน  จ.ภูเก็ต   นายศักดา กล่าวว่า เต่าหญ้า หรือเต่าสังกะสี  เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535  ที่ผ่านมาพบเต่าชนิดนี้ในฝั่งทะเลอันดามัน เช่น กระบี่ พังงา ภูเก็ต  ปัจจุบันพบเต่าวางไข่น้อยมากและมีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ กรณีที่พบบริเวณอ่าวแหลมสักเป็นพื้นที่ติดกับอ่าวพังงา.-สำนักข่าวไทย

...