ยานมินิโรเวอร์จับภาพ “ฉางเอ๋อ-6” บนด้านไกลของดวงจันทร์

ปักกิ่ง 13 มิ.ย. – ยานมินิโรเวอร์ที่ยานอวกาศฉางเอ๋อ-6 (Chang’e-6) ของจีนขนส่งไปยังดวงจันทร์ ได้บันทึกและส่งภาพล่าสุดของยานลงจอด-ยานพุ่งขึ้นของยานฉางเอ๋อ-6 บริเวณด้านไกลของดวงจันทร์ ซึ่งเป็นช่วงเวลาประวัติศาสตร์ในการสำรวจดวงจันทร์ของมนุษย์ สำนักข่าวซินหัวของทางการจีนรายงานอ้างบริษัทวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอวกาศแห่งประเทศจีน (CASC) ซึ่งเป็นผู้พัฒนายานอวกาศดังกล่าวว่า ยานมินิโรเวอร์อัจฉริยะระบบอัตโนมัติติดอยู่กับยานลงจอดระหว่างการเดินทางไปยังดวงจันทร์และลงจอดบนดวงจันทร์ โดยหลังจากที่ยานฉางเอ๋อ-6 เก็บตัวอย่างบนด้านไกลของดวงจันทร์แล้ว ยานโรเวอร์ดังกล่าวได้แยกตัวออกจากยานลงจอดโดยอัตโนมัติ เคลื่อนที่ไปยังตำแหน่งที่เหมาะสม เลือกมุมที่เหมาะสม ทำการบันทึกภาพ และส่งกลับมายังโลกโดยอัตโนมัติ บริษัทฯ ระบุว่า ยานมินิโรเวอร์มีน้ำหนักราว 5 กิโลกรัม เบากว่ายานสำรวจพื้นผิวดวงจันทร์อวี้ทู่ (Yutu) ซึ่งเป็นยานโรเวอร์สำรวจดวงจันทร์เครื่องแรกของจีนที่มีน้ำหนักเทียบเท่ากับผู้ใหญ่ราว 2 คน การบันทึกภาพครั้งนี้ถือเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาระบบอัจฉริยะอัตโนมัติสำหรับความพยายามสำรวจอวกาศห้วงลึกของจีน ซึ่งมีศักยภาพที่ดีและปูทางแก่การสำรวจดวงจันทร์ในอนาคต ขณะนี้ยานฉางเอ๋อ-6 ยังคงอยู่ในวงโคจรของดวงจันทร์ หลังจากเสร็จสิ้นภารกิจเก็บตัวอย่างจากด้านไกลของดวงจันทร์ และกำลังรอเวลาที่เหมาะสมในการเดินทางกลับมายังโลก.-814.-สำนักข่าวไทย

ยานสำรวจดวงจันทร์ของอินเดียหยุดทำหน้าที่ตามกำหนดแล้ว

นิวเดลี 29 ก.ย.- ยานสำรวจดวงจันทร์ของอินเดียยุติการปฏิบัติหน้าที่ตามที่กำหนดไว้แล้ว หลังจากเริ่มการสำรวจเมื่อเดือนสิงหาคม สำนักข่าวเพรสส์ทรัสต์ออฟอินเดียรายงานว่า นายเอส. โสมนัธ ประธานองค์การวิจัยอวกาศอินเดียหรืออิสโร (ISRO) เผยกับสื่อเมื่อค่ำวันพุธว่า ไม่เป็นไรหากยานสำรวจปรัชญาณ (Pragyan) จะหยุดทำงานก่อนเข้าสู่กลางคืนบนดวงจันทร์ เนื่องจากเป็นไปตามที่กำหนด ยานสำรวจปรัชญาณลงจอดใกล้กับขั้วใต้ของดวงจันทร์สำเร็จเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม ทำให้อินเดียเป็นชาติที่ 4 ของโลกที่ส่งยานอวกาศไปลงจอดบนดวงจันทร์ได้สำเร็จ อิสโรเผยเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า หวังว่าจะสามารถติดต่อกับยานสำรวจปรัชญาณและยานลงจอดวิกรม (Vikram) ได้อีกครั้ง โดยคาดหวังว่า จะขยายอายุภารกิจด้วยการเดินเครื่องยานสำรวจปรัชญาณที่ใช้พลังงานแสงอาทิตย์อีกครั้ง ทันทีที่ดวงจันทร์ได้รับแสงอาทิตย์ แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่ได้รับสัญญาณใด ๆ การเข้าสู่กลางคืนบนดวงจันทร์จะกินเวลาเท่ากับ 14 วันบนโลก เนื่องจากเวลา 1 วันบนดวงจันทร์เท่ากับเวลา 1 เดือนบนโลก.-สำนักข่าวไทย

...