ศาลโอซากาชี้คำสั่งห้ามแต่งงานเพศเดียวกันไม่ขัดรัฐธรรมนูญ

โอซากา 20 มิ.ย.- ศาลโอซากาของญี่ปุ่นมีคำชี้ขาดในวันนี้ว่า คำสั่งห้ามการแต่งงานของคนเพศเดียวกันไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ศาลแขวงโอซากามีคำชี้ขาดไม่รับคำร้องของคู่รักเพศเดียวกัน 3 คู่ที่ร้องเรียนว่าคำสั่งห้ามการแต่งงานของคนเพศเดียวกันขัดต่อรัฐธรรมนูญ และไม่รับคำร้องเรียกค่าเสียหายเป็นเงินจำนวน 1 ล้านเยน (ราว 261,358 บาท) ด้วย คำชี้ขาดนี้ทำลายความหวังของกลุ่มเรียกร้องสิทธิให้กลุ่มความหลากหลายทางเพศในญี่ปุ่นที่หวังเพิ่มแรงกดดันต่อรัฐบาล หลังจากศาลแขวงซัปโปโรมีคำชี้ขาดในเดือนมีนาคม 2564 ว่า การไม่อนุญาตให้มีการแต่งงานของคนเพศเดียวกันถือว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ และสภามหานครโตเกียวผ่านร่างกฎหมายระบบการเป็นคู่ชีวิตของคนเพศเดียวกันเมื่อสัปดาห์ก่อน ญี่ปุ่นเป็นประเทศเดียวในกลุ่มชาติอุตสาหกรรมชั้นนำ 7 ประเทศหรือจี 7 (G7) ที่ไม่อนุญาตให้คนเพศเดียวกันแต่งงานกัน รัฐธรรมนูญญี่ปุ่นบัญญัติไว้ว่า การแต่งงานต้องเป็นความสมัครใจของคนทั้งสองเพศ แต่ผลการหยั่งเสียงพบว่า ชาวญี่ปุ่นสนับสนุนการแต่งงานของคนเพศเดียวกันมากขึ้น.-สำนักข่าวไทย

รัฐบาลไบเดนชี้ขาดเมียนมา “ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์” โรฮิงญา

วอชิงตัน 21 มี.ค.- รัฐบาลประธานาธิบดีโจ ไบเดนของสหรัฐชี้ขาดอย่างเป็นทางการว่า การที่รัฐบาลทหารเมียนมาใช้ความรุนแรงกับชนกลุ่มน้อยชาวโรฮิงญาถือเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์และก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ รอยเตอร์อ้างเจ้าหน้าที่สหรัฐที่ขอสงวนนามว่า นายแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐจะประกาศการตัดสินใจในวันจันทร์ตามเวลาสหรัฐที่พิพิธภัณฑ์อนุสรณ์การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์สหรัฐในกรุงวอชิงตัน ซึ่งกำลังจัดแสดงนิทรรศการว่าด้วยสถานการณ์เลวร้ายของชาวโรฮิงญา นายบลิงเคนให้คำมั่นขณะรับตำแหน่งเมื่อเดือนมกราคม 2564 ว่าจะทบทวนความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับชาวโรฮิงญาในเมียนมา หลังจากนายไมค์ พอมเพโอ รัฐมนตรีต่างประเทศคนก่อนหน้าเขาไม่ตัดสินใจในเรื่องนี้ แม้ว่าเจ้าหน้าที่สหรัฐและบริษัทกฎหมายแห่งหนึ่งรวบรวมหลักฐานนำเสนอให้รัฐบาลประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ในเวลานั้นเร่งยอมรับว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องร้ายแรง เจ้าหน้าที่สหรัฐเผยว่า นายบลิงเคนได้สั่งการให้วิเคราะห์เชิงกฎหมายและข้อเท็จจริง ผลการวิเคราะห์สรุปว่า กองทัพเมียนมากำลังฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ และรัฐบาลสหรัฐเชื่อว่าการชี้ขาดอย่างเป็นทางการจะเพิ่มแรงกดดันของนานาชาติในการทำให้รัฐบาลทหารเมียนมาต้องรับโทษและทำผิดได้ยากขึ้น คณะทำงานค้นหาความจริงของสหประชาชาติสรุปในปี 2561 ว่า ปฏิบัติการทางทหารในปี 2560 ที่รัฐบาลทหารเมียนมาอ้างว่าเป็นการปราบปรามกลุ่มก่อการร้าย มีการกระทำที่เป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ (genocidal acts) แต่รัฐบาลสหรัฐในเวลานั้นระบุว่า เป็นการกวาดล้างชาติพันธุ์ (ethnic cleansing) ซึ่งไม่มีคำนิยามทางกฎหมายในกฎหมายอาญาระหว่างประเทศ ทั้งนี้นับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา สหรัฐใช้คำว่า “ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์” อย่างเป็นทางการเพียง 6 ครั้งกับเหตุสังหารหมู่ในบอสเนีย, รวันดา, อิรักและดาร์ฟูร์, เหตุกลุ่มรัฐอิสลามปองร้ายชาวยาซิดีและชนกลุ่มน้อยอื่น ๆ และการที่จีนปฏิบัติไม่ดีต่อชาวอุยกูร์และชาวมุสลิม.-สำนักข่าวไทย

ศาลฎีกาอังกฤษชี้ขาดว่านายกฯปิดประชุมสภาผิดกฎหมาย

ศาลฎีกาอังกฤษมีคำชี้ขาดในวันนี้ว่า การที่นายกรัฐมนตรีบอริส จห์นสันสั่งปิดประชุมสภานาน 5 สัปดาห์ตั้งแต่วันที่ 9 กันยายน เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย

...