รู้ได้อย่างไร ตับคั่งไขมัน หรือที่หลายคนเรียกว่า ไขมันพอกตับ
เมื่อโภชนาการเกิน ทำให้เกิดพังผืดในตับ เราจะรู้ได้อย่างไรว่ากำลังเป็นโรคนี้
🎯 ตรวจสอบกับ ศ.ดร.นพ.สมบัติ ตรีประเสริฐสุข สาขาวิชาโรคทางเดินอาหาร ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และกรรมการบริหาร สมาคมโรคตับแห่งประเทศไทย
โดยทั่วไป โรคตับคั่งไขมันไม่น่าจะมีอาการอะไรแสดงมา ส่วนใหญ่จะเกิดหลังทราบจากการวินิจฉัยของแพทย์
ผู้ป่วยที่แพทย์บอกว่าสงสัยมีโรคตับคั่งไขมัน ส่วนใหญ่จะวิตกกังวล และเริ่มบ่นว่าเริ่มเจ็บชายโครงด้านขวา แน่นท้อง อึดอัด จุกเสียด เหล่านี้ไม่ใช่อาการของโรคตับคั่งไขมัน เพราะว่าโรคตับคั่งไขมันส่วนใหญ่ไม่มีอาการ
การตรวจสุขภาพประจำปี และรับรู้ว่าเกี่ยวข้องกับโรคตับคั่งไขมัน
กรณีที่ไม่มีอาการใด ๆ เลย ส่วนใหญ่รู้ได้จากการตรวจสุขภาพประจำปี ค่าตับ AST (Aspartate Transaminase) และ ALT (Alanine Transminase) ทั้งสองตัวนี้มักจะขึ้นเกินกว่าค่าปกติ
ค่าปกติ อยู่ที่ 40 ยูนิต/ลิตร พบว่าค่าทำงานตับของผู้ป่วยโรคตับคั่งไขมันส่วนใหญ่ขึ้นสูงไม่เกิน 100 ต้น ๆ หรือสูงกว่าค่าปกติ 2-3 เท่า
สมมุติว่าค่าตับสูงมากกว่า 5-10 เท่า หรือ 200-300 ยูนิต/ลิตร อาจจะไม่ใช่จากโรคตับคั่งไขมันอย่างเดียว มักจะมีสาเหตุที่ 2 ร่วมอยู่ด้วย เช่น คนที่ใช้ยา และ/หรือ อาหารเสริมต่าง ๆ จำนวนมาก ก็อาจจะเป็นการแพ้ยา หรือยาเหล่านั้นทำให้ตับอักเสบ หรืออาจจะมีประวัติดื่มแอลกอฮอล์ หรืออาจจะมีไวรัสตับอักเสบบี หรือซี ร่วมด้วย
การตรวจอัลตราซาวนด์ช่องท้องส่วนบน
การทำอัลตราซาวนด์ช่องท้องส่วนบนใช้คลื่นเสียงตรวจตับ เนื้อตับสีขาวจากภาพอัตราซาวนด์ก็คือตัวไขมันที่แทรกเข้าไปในเนื้อตับนั่นเอง
แพทย์จะทำการซักประวัติพฤติกรรมสุขภาพ เช่น การดื่มแอลกอฮอล์ ไวรัสตับอักเสบบี หรือซี ถ้าไม่มีสิ่งเหล่านี้พอจะสันนิษฐานได้ว่าน่าจะมีโรคตับคั่งไขมัน
สังเกตสัญญาณตับคั่งไขมันอย่างไร
1. ถ้าเป็นผู้ป่วยเบาหวาน ควรตรวจหาตับอักเสบอย่างน้อยปีละครั้ง จะช่วยตัวเราเองและแพทย์ ช่วยกันเตือน
2. คนที่ไม่มีโรคประจำตัวใด ๆ แต่น้ำหนักเพิ่มขึ้นผิดปกติ 5-10 กิโลกรัมในระยะเวลา 1 ปี ถ้าเมื่อไหร่ที่น้ำหนักขึ้นมากผิดปกติไม่ดีแล้ว ตรวจโรคตับคั่งไขมันจากน้ำหนักตัว
3. คนที่น้ำหนักเกินหรืออ้วน ให้คำนวณค่าดัชนีมวลกาย (Body Mass Index : BMI) ด้วยสูตร น้ำหนัก (กิโลกรัม) หารด้วยความสูง (เมตร) ยกกำลังสอง
เช่น น้ำหนักตัว 67 กิโลกรัม ส่วนสูง 1.7 เมตร (67 หาร 1.7 ยกกำลังสอง = 23.18) คือค่าดัชนีมวลกายที่ปกติ
แต่ถ้าคำนวณแล้วได้ค่า BMI มากกว่า 23 หรือยิ่งมากกว่านี้ ก็จะยิ่งเกิดความเสี่ยงโรคตับคั่งไขมัน
ตรวจตับคั่งไขมันด้วยเครื่อง Transient Elastography
มีเครื่องมือตรวจค่าตับอีกชนิดหนึ่ง คือ Transient Elastography เป็นการวัดความแข็งของเนื้อตับ ใช้เวลาตรวจไม่นานและปลอดภัยเหมือนการทำอัลตราซาวนด์ โดยเครื่องนี้บอก 2 ค่า
1. ปริมาณไขมันตับ คนปกติมีไขมันตับประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ แต่ถ้ามีไขมันเกิน 60 เปอร์เซ็นต์ หรือ 6 เท่าขึ้นไป ตัวตับมักจะมีความรุนแรงของโรคแล้ว
2. ค่าพังผืดตับ ค่าปกติไม่เกิน 6 หน่วยกิโลพาสคาล (6 kpa) ถ้ามีค่าสูงกว่า 6 ยิ่งมากเท่าไหร่ ตัวตับหรือพังผืดตับก็จะมีความรุนแรงมากขึ้นเท่านั้น
ใครควรตรวจคัดกรองตับคั่งไขมัน
มีคน 3 กลุ่มที่ควรตรวจตับคั่งไขมัน
1. ตรวจสุขภาพแล้วพบค่าตับผิดปกติ และไม่มีประวัติดื่มแอลกอฮอล์ หรือไวรัสตับอักเสบบีและซี ควรตรวจหาสาเหตุเรื่องตับคั่งไขมัน ด้วยการทำเองก่อนว่าดัชนีมวลกายเกินหรือไม่
2. ผู้ป่วยเบาหวาน รักษามานานเกิน 5-10 ปี โดยเฉพาะกลุ่มควบคุมเบาหวานได้ไม่ดีควรตรวจหาโรคตับคั่งไขมัน
3. กรรมพันธุ์ คนที่มีน้ำหนักปกติ แต่มีญาติสายตรงมีโรคไขมัน เบาหวาน และหลอดเลือด อาจจะมีกรรมพันธุ์ที่เกี่ยวข้องและเป็นกลุ่มเสี่ยง
ดูเพิ่มเติม “รายการชัวร์ก่อนแชร์”
ตรวจสอบข้อเท็จจริงโดย : พีรพล อนุตรโสตถิ์
เรียบเรียงโดย : คมส์ธนนท์ ศุขอัจจะสกุล
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter