บนสื่อสังคมออนไลน์มีการแชร์เรื่องการนอนหลับไม่เพียงพอ และการงีบหลับกลางวัน
เสี่ยงต่อการเป็นโรคสมองเสื่อม หรืออัลไซเมอร์ ?
🎯 ตรวจสอบกับ พญ.ปุณฑริก ศรีสวาท ฝ่ายจิตเวชศาสตร์ และศูนย์นิทราเวช โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
การนอนไม่พอเสี่ยงเป็นโรคสมองเสื่อมได้ เรื่องนี้จริง
เวลาที่เรานอนพัก สมองกำจัดของเสียต่าง ๆ และระบบน้ำเหลืองในร่างกายทำงานสัมพันธ์กับการนอนดึกมาก ๆ เวลาที่เราหลับลึก
“ระบบน้ำเหลือง” ทำงานเหมือนรถเก็บขยะ ก็จะไปเก็บขยะตามเซลล์ต่าง ๆ และพวกบีตาอะไมลอยด์ (Beta-amyloid) ซึ่งเป็นสารที่พบมากในสมองคนที่เป็นอัลไซเมอร์
ในคนที่อดนอนหรือนอนไม่พอ บีตาอะไมลอยด์จะไม่ถูกเก็บไป
ขณะที่คนนอนมากพอ บีตาอะไมลอยด์ลดลง
ดังนั้น มีสมมุติฐานว่าถ้าเราอดนอนหรือนอนไม่พอ จะทำให้เกิดการสะสมของบีตาอะไมลอยด์มากขึ้น ก็จะทำให้เพิ่มความเสี่ยงการเกิดโรคสมองเสื่อม โรคอัลไซเมอร์ได้มากขึ้น แต่ขึ้นกับกรรมพันธุ์ของแต่ละคนด้วย
การงีบหลับกลางวัน ทำให้เป็นโรคสมองเสื่อม ?
จริง ๆ แล้ว การงีบกลางวันไม่ใช่สาเหตุโดยตรงที่ทำให้เกิดโรคสมองเสื่อม แต่จากงานวิจัยพบว่าเกิดจากการที่สมองของเรามีความผิดปกติอยู่แล้ว ทำให้เรางีบหรือนอนกลางวันมากขึ้น ซึ่งความผิดปกติของสมองแบบนี้ สัมพันธ์กับการเกิดโรคสมองเสื่อม
การงีบกลางวันจึงเป็นเพียงอาการแสดงอาการหนึ่งของสมองที่มีความผิดปกติ
การนอนที่ปกติ อาจเป็นสัญญาณบ่งชี้โรคสมองเสื่อม หรืออัลไซเมอร์ได้
เรื่องนี้ไม่แน่ใจว่าหมายถึงนอนกลางวันแล้วกลางคืนไม่นอนด้วยหรือเปล่า
ถ้ามีความผิดปกติของนาฬิกาชีวิตแบบนี้ จริง ๆ แล้วอาจจะเป็นตัวบ่งชี้ทางชีวภาพ (Biomarker) หนึ่งที่จะบอกว่าอาจจะมีโรคความเสื่อมของสมองได้
การงีบกลางวัน อาจจะมีสาเหตุจากการนอนไม่พอ
การงีบกลางวันอาจมีปัจจัยจากสาเหตุอื่นด้วย เช่น นอนไม่พอมาก่อน แล้วจริง ๆ การนอนไม่พอต่างหากที่สัมพันธ์กับโรคสมองเสื่อม เพราะฉะนั้นการงีบกลางวันเป็นการเอาคืนของร่างกาย
แล้วเราควรนอนวันละกี่ชั่วโมงถึงจะเพียงพอ
ส่วนใหญ่แล้วในวัยผู้ใหญ่ขอบล่างก็จะอยู่ที่ประมาณ 6 ชั่วโมง ขอบบนอยู่ที่ประมาณ 10 ชั่วโมง
ก็คือถ้านอนอยู่ระหว่าง 6-10 ชั่วโมง สามารถทำได้สม่ำเสมอในทุก ๆ วัน แล้วก็ไม่มีอาการง่วงกลางวัน อย่างนี้ก็ถือว่าเพียงพอแล้ว
การใช้เวลามาก ๆ มีผลเสียมั้ย
จำนวนชั่วโมงที่เหมาะสมอยู่ระหว่าง 6-10 ชั่วโมง เรื่องนี้เป็นเรื่องที่น้อยไปก็ไม่ดี มากไปก็ไม่ดี
มากไปพบว่าสัมพันธ์กับอัตราการเสียชีวิตที่มากขึ้น
ในบางคนที่ต้องการเวลานอนมาก ต้องดูว่าเกี่ยวกับโรคประจำตัวหรือไม่ แต่ถ้าจำนวนชั่วโมงการนอนที่ต้องการมากกว่า 10 ชั่วโมงขึ้นไปในวัยผู้ใหญ่ และต้องการอย่างนี้สม่ำเสมอ คนกลุ่มนี้มีอัตราการเสียชีวิตเพิ่มมากขึ้น
สำหรับคนที่ต้องการนอนกลางวันมาก จำเป็นต้องหาสาเหตุ ว่าทำไมกลางวันนอนมาก เป็นเพราะกลางคืนไม่นอนหรือเปล่า ขาดการนอนตอนกลางคืนหรือเปล่า หลาย ๆ คนไม่มีกิจกรรมการเคลื่อนไหวกลางวันด้วย จึงมีเวลานอนกลางวันมากขึ้น เลยใช้เวลาบนเตียงมากก็จะผล็อยหลับ หรือนั่งดูโทรทัศน์ก็จะผล็อยหลับไป ดังนั้นให้มีกิจวัตรที่เคลื่อนไหวขยับร่างกายมากขึ้นก็จะช่วยให้การงีบกลางวันลดลง
การงีบกลางวัน ไม่ได้เป็นสาเหตุโรคสมองเสื่อมโดยตรง แต่อาจจะเป็นเรื่องของร่างกายที่ทำให้เหนื่อย เพลีย จึงต้องงีบกลางวัน แต่อาจมีปัจจัยอย่างอื่นร่วมด้วย
การนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอดีต่อร่างกายและป้องกันการเกิดโรคได้
ดูเพิ่มเติม “รายการชัวร์ก่อนแชร์”
ตรวจสอบข้อเท็จจริงโดย : พีรพล อนุตรโสตถิ์ เรียบเรียงโดย : คมส์ธนนท์ ศุขอัจจะสกุล
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter