“ไขมันพอกตับ” หรือ “ตับคั่งไขมัน”
โรคที่หลายคนเป็น แต่อาจไม่รู้ตัว
โรคนี้เป็นอย่างไร และมีสาเหตุมาจากอะไร
🎯 ตรวจสอบกับ ศ.ดร.นพ.สมบัติ ตรีประเสริฐสุข สาขาวิชาโรคทางเดินอาหาร ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และกรรมการบริหาร สมาคมโรคตับแห่งประเทศไทย
ชื่อโรค “ตับคั่งไขมัน” เป็นชื่อที่ถูกต้องตามราชบัณฑิตสภา เพราะว่าลักษณะชัดเจน
ตับมีไขมันคั่งเต็มไปทั้งหมด ไขมันแทรกเข้าไปในทุกอณูของเนื้อเซลล์ตับ ไม่ใช่พอกอยู่ด้านนอก
“ไขมันพอกตับ” เป็นคำที่แพทย์ไม่ค่อยใช้ เพราะฟังดูจะรู้สึกว่าแค่ “พอก” น่าจะล้างออก
ภาวะ “ตับคั่งไขมัน” อาจลุกลามอันตราย
โรคตับคั่งไขมันเป็น “1 ใน 3” สาเหตุที่พบว่าทำให้ตับแข็ง และสุดท้ายตับทรุดลงไปจนทำงานไม่ได้ ตับวาย หรือมะเร็งตับ เป็นมากอันดับต้น ๆ ใกล้เคียงกับสาเหตุการดื่มแอลกอฮอล์และไวรัสตับอักเสบ
แพทย์มีการแบ่งสาเหตุของ “โรคตับคั่งไขมัน” ออกเป็น 3 กลุ่ม
1. ตับคั่งไขมัน : โภชนาการเกิน มีการกินอยู่เกินกว่าที่ใช้ จึงมักพบในผู้ป่วยที่มีโรคอ้วนร่วมด้วย
2. ตับคั่งไขมัน : เชื่อมโยงกับโรคเบาหวานชนิดที่ 2 เชื่อมโยงและสัมพันธ์โดยตรงกับโรคเบาหวานชนิดที่ 2 มีหลายคนไม่ดื่มเหล้า ไม่มีไวรัสตับอักเสบ แต่ทำไมตับแข็ง เหตุเพราะโรคเบาหวานที่เป็นมานานและควบคุมได้ไม่ดี
3. ตับคั่งไขมัน : ซ่อนรูป ภาษาของแพทย์โรคตับเรียกว่าเป็น “โรคตับอ้วน” หรือ “ไขมันตับแบบซ่อนรูป” ภาษาอังกฤษใช้คำว่า Lean Fatty liver ผู้ป่วยกลุ่มนี้มีรูปร่างเหมือนคนปกติ ไม่อ้วนเลย แต่กลุ่มนี้มักมีกรรมพันธุ์ ก็คือคุณพ่อคุณแม่มีโรคไขมัน เบาหวาน หลอดเลือดตีบตัน เมื่อมาถึงรุ่นลูกก็มีความเสี่ยงเกิดโรคตับคั่งไขมันเช่นเดียวกัน
พฤติกรรมสุขภาพ อายุ กับ “ความเสี่ยง” โรคตับคั่งไขมัน
“อายุ” ไม่เกี่ยวโดยตรงกับโรคตับคั่งไขมัน แต่ขึ้นกับ “ระยะเวลา” ที่เป็นมากกว่า
“ตับคั่งไขมัน” เป็นโรคค่อยเป็นค่อยไป อาจจะใช้เวลานาน 10 ปีก็ได้ ถ้าเริ่มต้นที่อายุ 40 ปี เมื่อถึงอายุประมาณ 50 ปีก็อาจเริ่มปรากฏให้เห็น เพราะอายุยิ่งมากยิ่งเพิ่มความเสี่ยงและมีความรุนแรงเพิ่มขึ้นตามลำดับ
อย่างไรก็ตาม วิถีชีวิตการกินของคนไทยเปลี่ยนไปมาก มีการศึกษาวิจัยในกลุ่มเด็กวัยรุ่น 10 กว่าขวบที่มีปัญหาโรคอ้วน ก็พบว่าเริ่มมีโรคตับคั่งไขมัน ถ้าบวกไปอีก 10 ปี ถึงวัยทำงานอายุประมาณ 30 ปี อาจจะมีโรคตับคั่งไขมันที่รุนแรงแล้ว
มีหลายคนบอกไม่ดื่มสุรา ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ก็ตับแข็งได้ด้วย ?
คำตอบก็คือ “ได้” จากหลายปัจจัย เช่น ไขมันตับ ภาวะอ้วน โดยเฉพาะอีกกลุ่มคือ ผู้ป่วยเบาหวาน
ตัวน้ำตาลในเลือดที่สูงมากเกินระดับและควบคุมได้ไม่ดี น้ำตาลในเลือดจะถูกเก็บเข้าไปสู่เซลล์ตับ โดยเปลี่ยนรูปแบบจากน้ำตาลกลายเป็นไขมัน จะยิ่งทำให้ตับแข็งเร็วขึ้น
ดังนั้น ผู้ป่วยเบาหวานที่มีตับอักเสบ น้ำตาลคุมได้ไม่ดี น้ำหนักเกิน ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงของตับแข็ง สุดท้ายเป็นมะเร็งตับได้มากกว่าคนที่ไม่มีเบาหวานด้วยเช่นกัน
การเข้าใจสาเหตุ ลดความเสี่ยง ป้องกัน “ตับคั่งไขมัน”
การป้องกัน “ตับคั่งไขมัน” ในชีวิตประจำวัน สามารถทำได้ง่าย ๆ อย่างเรื่องการกินอาหารแบบไทยเดิมนี่แหละ ซึ่งมีส่วนช่วยป้องกันได้มาก ดังนี้
1. กินอาหาร 1 จาน ประกอบด้วย “ผัก” ครึ่งหนึ่ง (2 ใน 4) “ข้าว” (1 ใน 4) และอาหาร “โปรตีน” (1 ใน 4)
ปัจจุบัน คนไทยกินอาหารที่มีรสหวานค่อนข้างมาก (น้ำตาลมาก) ถ้าไม่ใช่น้ำตาลก็เป็นคาร์โบไฮเดรตมาก และคาร์โบไฮเดรตเป็นส่วนสำคัญที่เปลี่ยนไปเป็นไขมันตับ
ดังนั้น ถ้าไม่ได้กินอาหารตามสัดส่วนที่แนะนำ (ผัก 2 ส่วน ข้าว 1 ส่วน โปรตีน 1 ส่วน) จะต้องลดลงเพราะโภชนาการเกิน ซึ่งต้องปรับจากอาหารประจำวัน
2. การลดน้ำหนัก IF (Intermittent Fasting) ด้วยการอดอาหารเป็นช่วง ๆ ก็คือกินให้น้อยใน 24 ชั่วโมง กิน 8 ชั่วโมง และอด 16 ชั่วโมง ก็ได้ผล
เรื่องการออกกำลังกายสำคัญมาก ไม่ต้องเน้นหนัก แต่เน้นนาน เพราะว่าหลายคนอายุมาก เข่าไม่ดีทำไม่ไหวไม่เป็นไร ค่อย ๆ เดิน ปั่นจักรยาน แต่เน้นนานประมาณ 150 นาทีต่อสัปดาห์ ถ้าทำ 50 นาทีต่อครั้งขั้นต่ำ 3 วัน
ดูเพิ่มเติม “รายการชัวร์ก่อนแชร์”
ตรวจสอบข้อเท็จจริงโดย : พีรพล อนุตรโสตถิ์
เรียบเรียงโดย : คมส์ธนนท์ ศุขอัจจะสกุล
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter