11 พฤศจิกายน 2566
แปลและเรียบเรียงบทความโดย: อดิศร สุขสมอรรถ
ตรวจทานและพิสูจน์อักษร : คมส์ธนนท์ ศุขอัจจะสกุล
ข้อมูลที่ถูกแชร์ :
มีคลิปวิดีโอและภาพบิดเบือนข้อเท็จจริงเผยแพร่ทางสื่อสังคมออนไลน์ในต่างประเทศ โดยอ้างว่ากลุ่มฮามาสพยายามทำให้ยอดผู้เสียชีวิตจากการโจมตีโดยกองทัพอิสราเอลสูงเกินความเป็นจริง โดยพบหลักฐานการจัดฉากให้คนไปอยู่ในถุงบรรจุศพเพื่อหลอกว่าเป็นผู้เสียชีวิต และยังมีภาพร่างในถุงบรรจุศพลุกขึ้นมาพิมพ์ข้อความทางโทรศัพท์มือถือ ทั้งสองภาพถูกอ้างว่าเป็นหลักฐานสนับสนุนทฤษฎีสมคบคิดเรื่อง Pallywood หรือการจงใจจัดฉากศพปลอม ๆ เพิ่มให้ยอดผู้เสียชีวิตในปาเลสไตน์สูงกว่าความเป็นจริง
บทสรุป :
- คลิปแรกเป็นการประท้วงเชิงสัญลักษณ์ของนักศึกษาในประเทศอียิปต์ที่ร่วมกันนอนในถุงบรรจุศพเมื่อปี 2013
- ภาพที่สองเป็นกิจกรรมในเทศกาลฮาโลวีนที่เมืองไทยเมื่อปี 2022 ที่เด็กแต่งแฟนซีด้วยชุดที่คล้ายกับถุงบรรจุศพ
FACT CHECK : ตรวจสอบข้อเท็จจริง :
จากการตรวจสอบโดย Fact Checker ในต่างประเทศ พบว่าภาพและคลิปที่ถูกแชร์ทั้งสองเหตุการณ์ ไม่มีความเกี่ยวข้องกับสงครามอิสราเอล-ฮามาสในช่วงเดือนตุลาคม 2023 แต่อย่างใด
คลิปแรกเป็นภาพร่างจำนวนมากถูกห่อในถุงบรรจุศพ แต่เมื่อซูมภาพไปใกล้ ๆ กลับพบว่าร่างในถุงบรรจุศพมีการเคลื่อนไหว เมื่อเปิดถุงบรรจุศพก็พบว่าคนที่อยู่ข้างในกำลังยิ้มและหัวเราะ
การตรวจสอบพบว่าคลิปดังกล่าวเคยถูกแชร์มาตั้งแต่ปี 2018 ซึ่งข้อความในคลิปเป็นการกล่าวโทษปาเลสไตน์ข้อหาจัดฉากผู้เสียชีวิตเช่นเดียวกัน
การตรวจสอบพบว่าคลิปต้นฉบับถูกโพสต์ทาง Youtube ครั้งแรกตั้งแต่ปี 2013 โดยเหตุการณ์ในคลิปเป็นส่วนหนึ่งของการชุมนุมประท้วงรัฐบาลโดยนักศึกษามหาวิทยาลัยอัลอัซซาร์ในกรุงไคโร ประเทศอียิปต์ ซึ่งเกิดก่อนสงครามอิสราเอล-ฮามาสจะเริ่มขึ้นถึง 10 ปี
ส่วนภาพที่ 2 ที่แชร์เป็นร่างในถุงบรรจุศพกำลังนั่งพิมพ์ข้อความในโทรศัพท์มือถือ เมื่อภาพถูกแชร์ในช่วงเดือนตุลาคม 2023 ทำให้ชาวเน็ตเชื่อว่ากลุ่มฮามาสพยายามจัดฉากให้มีผู้เสียชีวิตมากเกินจริงในกาซาเช่นเดียวกัน
อย่างไรก็ดี ภาพดังกล่าวเคยเป็นมีมมาตั้งแต่ปี 2022 ซึ่งการตรวจสอบที่มาพบว่า เป็นภาพที่ถ่ายในเทศกาลฮาโลวีนในประเทศไทยเมื่อปี 2022 โดยเด็กในภาพกำลังร่วมกิจกรรมแต่งตัวแฟนซีเพื่อฉลองเทศกาลฮาโลวีนในห้างสรรพสินค้าของจังหวัดนครราชสีมานั่นเอง
ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขกาซาเมื่อวันที่ 31 ตุลาคมรายงานว่ามีชาวปาเลสไตน์เสียชีวิตจากการโจมตีโดยกองทัพอิสราเอลถึง 8,525 ราย
อย่างไรก็ดี ทางการอิสราเอล รวมถึง โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ต่างตั้งข้อสงสัยด้านความน่าเชื่อถือของข้อมูลดังกล่าว เนื่องจากกระทรวงสาธารณสุขในกาซาอยู่ภายใต้การควบคุมโดยกลุ่มฮามาส
กระทั่งวันที่ 27 ตุลาคม เว็บไซต์หนังสือพิมพ์ New York Times รายงานว่ากระทรวงสาธารณสุขในกาซาทำการเปิดเผยข้อมูลผู้เสียชีวิตที่อ้างว่าเกิดจากฝีมือของกองทัพอิสราเอลทั้ง 6,747 ราย ทั้งรายชื่อ เพศ อายุ และหมายเลขประจำตัว และยังมีผู้เสียชีวิตอีก 281 รายที่ยังไม่สามารถยืนยันอัตลักษณ์บุคคลได้
ข้อมูลอ้างอิง :
https://www.politifact.com/factchecks/2023/oct/30/viral-image/old-video-mischaracterized-as-showing-palestinians/
https://www.snopes.com/fact-check/gaza-body-bag-pic/
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter