มูลนิธิกระจกเงา 20 ก.ค. – ผู้ว่าฯ กทม. คุยมูลนิธิกระจกเงา ชมโมเดลระบบจัดการคัดแยกขยะ จ้างงานคนไร้บ้าน-กลุ่มผู้สูงอายุ มูลนิธิฯ เผยเมื่อมีงาน ชีวิตมีคุณค่า พาหลุดวงจร แก้ปัญหาคนไร้บ้านอย่างยั่งยืน
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม., นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าฯ กทม. หารือร่วมกับนายสมบัติ บุญงามอนงค์ ผู้ก่อตั้งมูลนิธิกระจกเงา และทีมงานที่เกี่ยวข้อง โดยมีประเด็นหารือหลัก ๆ ร่วมกันคือการจัดการระบบขยะ การจัดระบบรีไซเคิลของมูลนิธิฯ ที่เกิดการจ้างงานกลุ่มคนไร้บ้านเป็นโมเดลที่ กทม.สามารถนำไปปรับใช้ได้ และได้เดินชมระบบการคัดแยกของบริจาคที่มีมากที่สุด คือ เสื้อผ้า และมีการรับบริจาคทุกอย่างทั้งหนังสือ ของใช้ในบ้าน อุปกรณ์การเรียน หนังสือ เครื่องใช้ไฟฟ้า ฯลฯ ซึ่งทุกประเภทที่ยังใช้งานได้ดีจะมีการส่งต่อให้บริจาคทั่วประเทศตามความต้องการ ส่วนที่ใช้งานต่อไม่ได้ ก็จะมีการแยกประเภทเพื่อขายเป็นรายได้และทำประโยชน์ต่อไป
ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า วันนี้แวะมาเยี่ยมที่มูลนิธิกระจกเงา หาแนวทางเพิ่มเติมนโยบายช่วยคนไร้บ้าน มองว่าร่วมกันกับภาคประชาสังคม ร่วมกันกับรัฐเป็นสิ่งสำคัญ เห็นชัดเจนว่าที่นี่เป็นพลังจากประชาชนที่ทำได้ดีในหลายมิติ ทั้งเรื่องการจัดการขยะ คัดแยก การจ้างงานกลุ่มคนไร้บ้าน การมีงานทำสร้างความภาคภูมิใจให้กับชีวิต และยังมีอาสาสมัครเข้ามาร่วมเป็นคนรุ่นใหม่ ที่มาเจอกับผู้สูงอายุที่มีงานทำที่นี่ ให้มามีสังคมร่วมกัน ที่มูลนิธิกระจกเงา ของบริจาคที่เข้ามา มีการแบ่งแยกประเภทและมีโครงการ ส่งต่อที่เป็นระบบ ของเหลือใช้ทุกอย่างไม่มองว่าเป็นขยะ ทุกอย่างคือรายได้ กทม.มาเรียนรู้นำไปปรับใช้ วันนี้เห็นว่าเราเป็นเมืองแบ่งปันที่แท้จริง เพราะมีของบริจาคเข้ามาเยอะมาก หากจัดการให้ดีก็ช่วยเป็นประโยชน์ อย่างหน่วยคัดแยกขยะเบื้องต้น เป็นแหล่งจ้างงานคนไร้บ้านขนาดใหญ่ สร้างงานคนไร้บ้าน เมื่อมีงาน ชีวิตมีความหมาย เป้าหมายให้หลุดวงจรไร้บ้าน-คนจนเมือง กทม. ก็จะหาแนวทางนำไปปรับใช้ต่อไป
นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าฯ กทม.กล่าวเพิ่มเติมว่า กทม.กับมูลนิธิกระจกทำงานร่วมกันก่อนหน้านี้มาหลายครั้งแล้ว อย่างวันนี้ได้เรียนรู้ว่าหาก กทม. จะเปิดบ้านอิ่มใจ แก้ปัญหากลุ่มคนไร้บ้านอีกครั้ง อาจต้องปรับรูปแบบการให้บริการ เน้นช่วยเหลือสนับสนุนสวัสดิการ ตอบโจทย์คนกลุ่มนี้มากกว่า การเปิดให้เข้ามาพักอาศัย เช่น มีห้องน้ำ ห้องอาบน้ำ มีจุดให้ซักผ้า และควรจะให้มี จุดรับจ้างงาน จุดแจกอาหาร สำหรับกลุ่มนี้เพื่อแก้ปัญหาอื่นๆได้ด้วย
ด้านนายสมบัติ บุญงามอนงค์ ผู้ก่อตั้งมูลนิธิกระจกเงา กล่าวว่า มูลนิธิฯ ที่ทำงานอยู่ด้านหน้าทำให้เห็นว่าใน กทม.มีปัญหา เรื่อง คนไร้บ้าน คนจนเมืองและมีกลุ่มผู้สูงอายุที่เป็นคนจนเมืองเพิ่มสูงขึ้น หลายคนยังมีความสามารถทำงานได้แต่หากไม่มีงานรองรับ ก็จะมีโอกาสเข้าสู่วงจรคนไร้บ้าน เสนอว่า กทม.ควรมีออกแบบงานบางส่วนรองรับให้ผู้สูงอายุ ที่เป็นคนจนเมืองได้มีโอกาสทำงาน ปัจจุบันมีตัวเลขคนไร้บ้านใน กทม.ประมาณ 2,000 คน มูลนิธิกระจกเงา มีโครงการจ้างงาน ช่วยจ้างงานกลุ่มคนไร้บ้าน ผู้สูงอายุคนจนเมือง จำนวน 150 คน/เดือน งานช่วยโดยแบ่งประเภทงาน คือ 1.ทำความสะอาดที่สาธารณะ 2.คัดแยกของบริจาค 3.ประชาชนทั่วไปมาจ้างแรงงานทำความสะอาด ยกของ ที่ได้เงินโดยตรงจากผู้จ้าง โดยมีอัตรา ค่าจ้าง หากทำงานแยกชิ้นส่วน จัดการของบริจาคต่าง ๆ 6-7 ชั่วโมงต่อวัน ได้ 500 บาท หากไปทำความสะอาดที่สาธารณะ 4 ชั่วโมงได้ 400 บาท ที่ให้อัตราจ้างนี้เพราะจากตัวอย่างของอดีตคนไร้บ้านหลายคน พบว่าถ้าได้งานติดต่อกัน 4 วัน จะมีรายได้เพียงพอที่ไปเช่าบ้านราคาถูก มีโอกาสเริ่มต้นชีวิตใหม่ หลุดวงจรนี้ได้ ที่มูลนิธิกระจกเงา มีการจัดการของบริจาคที่มีเข้ามาจำนวนมาก อย่างเป็นพลาสติก กระดาษ สิ่งของ ยินดีหาก กทม.จะนำโมเดลไปใช้กับการจัดการขยะของ กทม.หากทำได้เชื่อว่าจะทำให้เกิดการจ้างงานมหาศาล เปลี่ยนภาระเป็นพลังขับเคลื่อนสังคม. -สำนักข่าวไทย