สธ. 18 ก.ค. – อธิบดีกรมควบคุมโรค เผยหารือบ่ายนี้ ถก กทม. รร.แพทย์ เน้นอุดช่องโหว่ ส่งต่อผู้ป่วยใน กทม.ห่วงหลังเปิดทำการปกติ ขอให้เคร่งครัด 2U เนื่องจากหยุดยาว คนเดินทางท่องเที่ยว พร้อมเดินหน้าฉีดภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป LAAB ในกลุ่มคนภูมิคุ้มกันต่ำ ไต หรือปลูกถ่ายอวัยวะ หลังพบเป็นกลุ่มเสียชีวิตมากที่สุดในกลุ่มป่วยโรคเรื้อรัง คาดภูมิคุ้มกันสำเร็จมาถึงไทย 25 ก.ค.นี้
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สถานการณ์โควิดเข้าสู่ปีที่ 3 หลายประเทศเริ่มไม่มีการรายงานตัวเลขผู้ป่วยติดเชื้อแล้ว ทำให้ยอดติดเชื้อทั่วโลกอยู่ที่ 39,043 คน และพบการติดเชื้อจำนวนมากที่ทวีปยุโรป และยังคงต้องมีการติดตามสถานการณ์ในเอเชียด้วย เนื่องจากญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และอินโดนีเซีย จำนวนผู้ป่วยติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้น ส่วนในประเทศไทยวันนี้ (18 ก.ค.) พบเสียชีวิต 17 คน ป่วยปอดอักเสบ 794 คน และใส่ท่อช่วย 369 คน ส่วนผู้ป่วยรักษาตัวใน รพ. 1,814 คน ทั้งนี้ ห่วงหยุดยาวทำให้แนวโน้มผู้ป่วยติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น ทั้งใน กทม.และปริมณฑล และอาจเพิ่มมากขึ้นในต่างจังหวัด เพราะจะเห็นจากคนส่วนใหญ่นิยมเดินทางไปท่องเที่ยว ดังนั้น การหารือในบ่ายวันนี้ (18 ก.ค.) ที่มีการหารือร่วมกับ กทม. และ รร.แพทย์ จะเน้นการบริหารจัดการดูแลส่งต่อผู้ป่วยที่มีปัญหาในพื้นที่ กทม. ทั้งกรณีการเสียชีวิตในบ้าน เนื่องจากพื้นที่ กทม. เป็นแหล่งรวมทั้งของ รพ.เอกชน, รร.แพทย์ และมี รพ.สังกัดทั้ง กทม.และสาธารณสุข แต่ต้องมีการบูรณาการร่วมกันเพื่อแก้ไขปัญหา และในระหว่างนี้ขอให้ประชาชนทุกคนเคร่งครัด มาตรการ 2U ทั้งมาตรการส่วนบุคคล สวมหน้าอนามัย ระยะห่าง ล้างมือ และการรับวัคซีนเข็มกระตุ้น
นพ.โอภาส กล่าวว่า สำหรับสถานการณ์การเสียชีวิต พบในกลุ่มคน 608 ถึง 98% และพบว่าในจำนวนผู้เสียชีวิตนี้ เริ่มพบคนที่รับวัคซีนเข็มกระตุ้นไปแล้ว 3 เข็ม แต่ห่าง 3 เดือน เสียชีวิต และผู้เสียชีวิตในกลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่มีถึง 92% ในจำนวนนี้พบเป็นโรคไตมากที่สุด ซึ่งในวันที่ 25 ก.ค. ภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป หรือ Long Acting Antibody (LAAB) จะเดินทางมากถึงจำนวน 7,000 โดส จากนั้นจะทยอยมาจนครบ 257,500 โดส ซึ่งจะนำมาใช้ฉีดให้กับกลุ่มผู้ที่ป่วยโรคไตเรื้อ มีการฟอกไต หรือรับประทานยากดภูมิ หรือกลุ่มที่มีการปลูกถ่ายอวัยวะ โดยภูมิคุ้มกันสำเร็จรูปนี้จะมียา 2 ชนิด ใช้ฉีดเข้าสะโพกผู้ป่วยทั้ง 2 ข้าง ซึ่งในสัปดาห์นี้เตรียมอบรม เพื่อซักซ้อมความพร้อมของผู้รับภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป ที่คาดว่าจะมาลงทะเบียน โดยจะให้ทางคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดจะเป็นผู้ดำเนินการ คาดว่า จะมีผู้ป่วยในกลุ่มดังกล่าวมาลงทะเบียนฉีด ประมาณ 200,000 คน โดยภูมิคุ้มกันนี้จะอยู่นานถึง 6 เดือน ทั้งนี้ หากดูสถานการณ์การเสียชีวิต โอไมครอนกับเดลตาพบว่าน้อยกว่า โดยหากรู้ตัวว่า มีอาการระคายคอ เจ็บคอ มีน้ำมูก ปวดตามเนื้อตัว คล้ายไข้หวัดใหญ่ สงสัยให้ตรวจ ATK ทันที
นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผอ.กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กล่าวว่ากรณีมีรายงานพบคนเสียชีวิตตามบ้านจากโควิดนั้น มีรายงานเข้ามาเรื่อย ๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้เสียชีวิตที่มีโรคโควิดร่วมด้วย (died with covid 19) มีทั้งที่ตรวจเจอโควิดอยู่ก่อน หรือมาตรวจเจอว่ามีโควิดร่วมด้วยในภายหลัง แต่สาเหตุที่เสียชีวิตเป็นโรคนั้นจากโรคที่เป็นอยู่ก่อน ไม่ใช่เสียชีวิตจากโควิด เช่น ผู้ป่วยโรคมะเร็งระยะท้าย หรือผู้ป่วยที่อยู่ป่วยต้องรับการรักษาแบบประคับประคอง ให้ใช้ชีวิตช่วงสุดท้ายกับครอบครัวมากกว่า.-สำนักข่าวไทย