กรมการแพทย์ 24 มิ.ย.-กรมการแพทย์จัดกิจกรรมวันต่อต้านยาเสพติด ระบุแนวโน้มผู้ป่วยจากกัญชายังไม่ได้เพิ่มสูงขึ้น พบสูงสุดยังมาจากยาบ้า เฮโรอีน และไอซ์
กรมการแพทย์ โดยสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี ร่วมมือกับโครงการ FRIEND OF JUNE จัดกิจกรรมรณรงค์ป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด เนื่องในวันต่อต้านยาเสพติดโลกปี 2565 เพื่อให้เยาวชนและประชาชนทั่วไปได้มีความรู้และตระหนักถึงโทษพิษภัย ร่วมแรงร่วมใจในการป้องกันปัญหายาเสพติด โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนให้ห่างไกลจากยาเสพติด
นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ บอกว่า ปัญหายาเสพติดเป็นปัญหาสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อสังคมในทุกระดับที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน ในส่วนของการบำบัดรักษาฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด ปีนี้กรมการแพทย์ตั้งเป้าหมายจะเพิ่มการเข้าถึงบริการของประชาชน ผู้มีปัญหายาเสพติดได้รับการบำบัดรักษาใกล้บ้าน ลดความแออัด ค่าใช้จ่ายน้อย ลดการตีตรา สร้างระบบการเชื่อมต่อบริการตั้งแต่ระดับพื้นที่ถึงระดับ รพ.สถาบันเฉพาะทาง โดยเพิ่มความสามารถหน่วยบริการในพื้นที่ ให้เป็นมินิธัญญารักษ์ จัดระบบปรึกษาระหว่างแพทย์เป็น Tele consult หากเกินศักยภาพ ก็จะให้มีการส่งต่อมาที่โรงพยาบาลเฉพาะทางของกรมการแพทย์ และเมื่อผู้ป่วยอาการดีขึ้น จะส่งกลับไปติดตามต่อเนื่องที่มินิธัญญารักษ์ในพื้นที่ ช่วยให้เกิดการดูแลแบบไร้รอยต่อตลอดช่วงชีวิต Life-long follow up
ที่สำคัญจะมีการศึกษาวิจัยถึงผลกระทบของกัญชาหลังประกาศไม่เป็นยาเสพติดที่ผิดกฎหมาย รวมทั้งการสร้างความรู้ความเข้าใจกับประชาชน และการวางระบบเฝ้าระวังการใช้กัญชาในทางที่ผิดด้วย ทั้งนี้ แนวโน้มหลังการปลดล็อกกัญชา จำนวนผู้ป่วยจากการใช้กัญชาที่เข้ารับการบำบัดรักษา ก็ยังไม่ได้เพิ่มขึ้นจากภาวะปกติ ผู้ป่วยที่พบมากสุดยังคงมาจากการใช้ยาบ้า เฮโรอีน และไอซ์
พร้อมย้ำ สนับสนุนการใช้กัญชาทางการแพทย์ แต่ไม่สนับสนุนการใช้เพื่อสันทนาการและการใช้ในเด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี หากจะใช้ในเด็ก ต้องใช้กรณีเด็กที่มีโรคลมชักไม่สามารถรักษาด้วยยาต่าง ๆ ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์เฉพาะทาง ในกลุ่มผู้สูงอายุ ควรใช้กัญชาด้วยความระมัดระวัง และห้ามใช้ในผู้ที่มีอาการโรคหัวใจและหลอดเลือดขั้นรุนแรง หรือไม่สามารถควบคุมอาการได้ ผู้ที่มีประวัติความผิดปกติทางจิตเวช รวมถึงสตรีมีครรภ์และให้นมบุตร
นพ.สรายุทธ์ บุญชัยพานิชวัฒนา ผู้อำนวยการสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี เปิดเผยว่า ตั้งแต่ตุลาคม 2564-มิถุนายน 2565 มีผู้เข้ารับการบำบัดทั่วประเทศ ในสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี และโรงพยาบาลธัญญารักษ์อีก 6 แห่งทั่วประเทศ คือ ที่จังหวัด เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ขอนแก่น อุดรธานี สงขลา และปัตตานี จำนวนทั้งสิ้น 74,981 คน เป็นเพศชาย 67,017 คน คิดเป็นร้อยละ 89.38 และเพศหญิง 7,964 คน คิดเป็นร้อยละ 10.62 ประเภทของยาเสพติดที่ใช้มากที่สุดคือ ยาบ้า จำนวน 58,385 คน คิดเป็นร้อยละ 77.87 รองลงมาเป็นเฮโรอีน จำนวน 4,377 คน คิดเป็นร้อยละ 5.84 ยาไอซ์ จำนวน 3,458 คน คิดเป็นร้อยละ 4.61 ฝิ่น จำนวน 3,190 คน คิดเป็นร้อยละ 4.25 และกัญชา จำนวน 3,171 คน คิดเป็นร้อยละ 4.23
แม้จำนวนผู้ป่วยจากการใช้กัญชาจะยังไม่ได้เพิ่มขึ้น แต่ก็ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด เนื่องจากมีสาร THC เป็นสารเสพติด หากใช้ขนาดสูงเป็นประจำจะเกิดภาวะดื้อต่อสาร ทำให้ต้องมีการเพิ่มขนาดและเกิดการติดยาได้ การออกฤทธิ์ของกัญชาในระยะแรกจะออกฤทธิ์กระตุ้นประสาท ทำให้ผู้ใช้ตื่นตัว ตื่นเต้น ร่าเริง หัวเราะง่าย ช่างพูด พูดคนเดียว ยิ้มคนเดียว ไม่หลับไม่นอน เมื่อเวลาผ่านไป 1-2 ชั่วโมง จะเริ่มออกฤทธิ์กดประสาท ทำให้มีอาการคล้ายกับเมาเหล้า หน้าแดง ลิ้นไก่พันกัน พูดไม่ค่อยรู้เรื่อง เซื่องซึม ง่วงนอนตลอดเวลา ถ้าใช้ในปริมาณมาก จะทำให้เกิดภาพลวงตา ควบคุมตัวเองไม่ได้ เมื่อหมดฤทธิ์จะทำให้ผู้ใช้มีอารมณ์อ่อนไหว เลื่อนลอย สมองสั่งงานช้า ไม่สนใจสิ่งแวดล้อม ใจสั่น และหูแว่ว ฉะนั้นควรใช้เฉพาะทางการแพทย์เท่านั้น.-สำนักข่าวไทย