กรุงเทพฯ 24 ม.ค. – กรมการแพทย์ โดยสถาบันประสาทวิทยาเผย การบำบัดฟื้นฟูผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ที่มีอาการอัมพฤกษ์อัมพาตหลงเหลือมีความสำคัญและจำเป็นอย่างมากที่จะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถกลับมาเคลื่อนไหวและดำเนินชีวิตได้ใกล้เคียงปกติมากที่สุด
นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองที่มีอาการอัมพฤกษ์อัมพาตอาจจะมีปัญหาในการประกอบกิจวัตรประจำวัน เช่น การเคลื่อนไหวร่างกาย การรับประทานอาหาร การเดิน ซึ่งส่งผลต่อการดำเนินชีวิตของผู้ป่วย และจากความเชื่อที่ประชาชนนำผู้ป่วยอัมพฤกษ์อัมพาตไปฝังทรายแล้วอาการดีขึ้น ในทางการแพทย์ไม่พบการเปลี่ยนแปลงหรือพบว่ามีผลต่อการไหลเวียนโลหิตจากการฝังตัวในทราย และอาจเสี่ยงเป็นอันตรายต่อผู้ป่วยอีกด้วย โดยเฉพาะในผู้ป่วยกลุ่มเปราะบาง ผู้ป่วยสูงอายุ ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง หลอดเลือดหัวใจ การให้การรักษาทางเวชศาสตร์ฟื้นฟูจึงมีความสำคัญเป็นอย่างมาก ที่จะช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกาย และสามารถกลับมาดำเนินชีวิตได้ใกล้เคียงปกติมากที่สุด
นพ.ธนินทร์ เวชชาภินันท์ ผู้อำนวยการสถาบันประสาทวิทยา กล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้ป่วยที่โรคหลอดเลือดสมองที่มีอาการอัมพฤกษ์อัมพาตหลงเหลืออยู่ ไม่ควรฝังตัวในทราย เพราะอาจเป็นอันตรายต่อผู้ป่วย ซึ่งการฝังทรายไม่มีผลต่อระบบการไหลเวียนของร่างกาย เว้นแต่การฝังตัวในทรายที่มีอุณหภูมิอุ่นเหมาะสม คล้ายการอบไอน้ำหรือการแช่น้ำอุ่น ซึ่งจะทำให้หลอดเลือดขยายตัวและทำให้ระบบการไหลเวียนโลหิตดีขึ้น แต่หากอุณหภูมิสูงเกินไปก็อาจทำให้หลอดเลือดขยายตัวมากเกินไปจนทำให้เกิดความดันโลหิตต่ำหรือช็อกได้ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุหรือผู้ที่มีโรคประจำตัว การฝังตัวในทรายที่อาจจะได้ประโยชน์ตามที่กล่าวอ้างนั้น ต้องมีความอุ่นเหมาะสม และต้องระมัดระวังไม่ฝังคลุมบริเวณหน้าอก เพราะอาจทำให้ขัดขวางการหายใจ โดยเฉพาะผู้ที่มีปัญหาด้านการเคลื่อนไหวมาก ๆ การฟื้นฟูร่างกายที่จะได้ผลดีและปลอดภัยควรอยู่ภายใต้การดูแลโดยแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู นักกายภาพบำบัด นักกิจกรรมบำบัด หรือบุคลากรผู้มีความเชี่ยวชาญในการบำบัดฟื้นฟู เพื่อลดภาวะแทรกซ้อนและลดความบกพร่องของระบบประสาทที่มีอยู่ แต่อย่างไรก็ตามการไปพักผ่อนตามสถานตากอากาศ หาดทราย ชายทะเล สามารถช่วยสร้างความสดชื่นกระปรี้กระเปร่าให้ผู้ป่วยรู้สึกดีขึ้นได้ และร่างกายที่จะสมบรูณ์แข็งแรงส่วนหนึ่งต้องมาจากสุขภาพจิตใจที่ดี. -สำนักข่าวไทย