สธ. 29 พ.ย.- กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เตือนผู้ป่วยโรคลมชัก ไม่ควรขับรถหรือใช้รถใช้ถนน อาจเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุได้ โดยผู้ป่วยโรคดังกล่าวมีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุและเสียชีวิตสูงกว่าคนทั่วไปถึง 7 เท่า พร้อมแนะนำการขอใบอนุญาตขับขี่สำหรับผู้ป่วยโรคลมชัก ต้องใช้ใบรับรองแพทย์ฉบับใหม่ที่แพทยสภากำหนด
วันนี้ (29 พฤศจิกายน 2564) นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากกรณีการเกิดอุบัติเหตุมีผู้ขับรถชนท้ายรถคันอื่นบริเวณแยกศิริราช กรุงเทพฯ เมื่อช่วงต้นเดืนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ซึ่งหลังจากตรวจสอบ พบว่าคนที่ขับรถชนมีอาการชักเกร็งจากการป่วยลมชัก ทำให้เกิดเหตุดังกล่าว กรมควบคุมโรค จึงขอให้ข้อมูลว่า โรคลมชักเป็นโรคที่เกิดจากกลุ่มอาการชัก อันเนื่องมาจากการที่สมองส่วนใดส่วนหนึ่งหรือทั้งหมดทำงานมากเกินปกติไปจากเดิมชั่วขณะ จากความผิดปกติของการส่งสัญญาณไฟฟ้าในสมอง ซึ่งมีสาเหตุหลากหลาย พบได้ในทุกเพศทุกวัย ตั้งแต่แรกเกิดจนถึงวัยผู้สูงอายุ ผู้ป่วยจะมีอาการแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับชนิดของโรคลมชักและจุดกำเนิดในสมอง อาทิ เกร็งกระตุกทั้งตัว เหม่อ นิ่ง ไม่รู้สึกตัว พฤติกรรมเปลี่ยนแปลงชั่วขณะ ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะสูญเสียความสามารถในการควบคุมตนเองขณะมีอาการ เป็นเหตุให้เกิดอุบัติเหตุขึ้นได้
“ผู้ป่วยโรคลมชักมีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ และเสียชีวิตสูงกว่าคนทั่วไปถึง 7 เท่า ซึ่งจากข้อมูลวิจัยในประเทศไทยพบว่า อุบัติเหตุจากการชัก เกิดในยานพาหนะชนิดรถจักรยานยนต์ร้อยละ 81.8 รถยนต์ร้อยละ 25.0 และรถจักรยานร้อยละ 6.8 ประเทศไทยมีกฎหมายบังคับให้ผู้ป่วยโรคลมชักห้ามขับรถ หากจะกลับมาขับรถได้ ผู้ป่วยโรคลมชักต้องสามารถควบคุมอาการชักได้อย่างน้อย 1 ปี ซึ่งโรคลมชักสามารถรักษาให้หายขาดและดำเนินชีวิตปกติได้ ผู้ป่วยต้องรักษาโรคลมชักอย่างต่อเนื่อง ควบคุมไม่ให้มีอาการชัก และระวังผลแทรกซ้อนจากการรักษา เช่น มีอาการเดินเซ มือสั่น ซึม หากมีอาการผิดปกติต้องรีบแจ้งให้แพทย์ทราบเพื่อปรับการรักษาให้เหมาะสม” นายแพทย์โอภาสกล่าว
นายแพทย์โอภาส กล่าวเพิ่มเติมว่า การขอมีใบอนุญาตขับขี่สำหรับผู้ป่วยโรคลมชัก ต้องใช้ใบรับรองแพทย์ฉบับใหม่ที่แพทยสภากำหนด จึงขอให้นายทะเบียนทั่วประเทศ เข้มงวดตรวจสอบลักษณะต้องห้ามในการขอรับใบอนุญาตขับขี่ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นมาตรฐานเดียวกันทุกสำนักงานขนส่ง ทั้งการตรวจสอบหลักฐานใบรับรองแพทย์ที่ใช้ประกอบคำขอใบขับขี่ครั้งแรก ต่ออายุ เปลี่ยนชนิด หรือประเภทของใบอนุญาต ต้องเป็นใบรับรองแพทย์ตามแบบมาตรฐานที่แพทยสภารับรอง ซึ่งโรคลมชักในสภาวะที่ไม่สามารถควบคุมอาการชักได้ เป็นโรคประจำตัวที่อาจเป็นอันตรายขณะขับรถ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่กองป้องกันการบาดเจ็บ โทร. 0 2590 3952 หรือสายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422 .-สำนักข่าวไทย