สำนักข่าวไทย 25 พ.ย.- หมอประสิทธิ์ ชี้ เดือนธ.ค.เป็นช่วงเวลาเสี่ยงโควิดแพร่หนัก ทั้งหยุดยาว อากาศหนาว สังสรรค์ ครบ 3 ปัจจัย เสี่ยงคนเสี่ยง สถานที่เสี่ยง กิจกรรม ขอให้เคร่งครัดมาตรการป้องกันตนเอง และรับวัคซีน ยกตัวอย่างต่างประเทศฉีดวัคซีนเกิน 70% ยังมีติดเชื้อสูง
ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวอัปเดตสถานการณ์โควิด-19 ว่าเปรียบเทียบสถานการณ์โควิด-19 ทั่วโลก โดยระบุแม้ทั่วโลกมีการฉีดวัคซีนเกิน 70% ทั้งครบโดส และเข็ม 1 และเริ่มมีการกระตุ้นวัคซีนเข็ม 3 แต่ยังพบว่าการติดเชื้อ และเสียชีวิตมากอยู่เนื่องจากวัฒนธรรม ความเชื่อ การใช้ชีวิต ห่วงเดือนธันวาคมเป็นจุดเปลี่ยนติดเชื้อเพิ่มขึ้น ทั่วโลก เนื่องจากสถานการณ์ ช่วงที่ทวีปยุโรป มีอากาศหนาวเย็น มีวันหยุดยาว และมีคนรวมตัวพบะปะสังสรรค์ เพื่อเฉลิมฉลองเทศกาลปีใหม่ ดังนั้นเรียกร้องขอให้เร่งรัดมาตรการ ทั้งระยะห่าง และสวมหน้ากากอนามัย เพื่อไม่ให้อัตราการติดเชื้อกลับมาพุ่งสูง เพราะในบางประเทศล่าสุด เช่น ออสเตรีย เพิ่งมีการประกาศล็อกดาวน์ เนื่องจากมีอัตราการติดเชื้อ 925 ต่อแสนประชากร และมีอัตราเสียชีวิตเพิ่มสูง แม้มีอัตราการรับวัคซีนในประเทศสูงเกือบ 70%
ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า จากการนำข้อมูลในต่างประเทศ ทั่วโลกมีการรับวัคซีนไปกว่า 7,731 ล้านโดส หรือคิดเป็น 7,908 ล้านคน จะเห็นว่า ยุโรป สหรัฐอเมริกา และสหราชอาณาจักร แม้มีการติดเชื้อสูง แต่อัตราตายต่ำ ดังนั้นจึงอยากให้ทุกคนไปรับวัคซีน เพราะวัคซีนมีความปลอดภัย และ ช่วยให้ลดอัตราการเสียชีวิต และความรุนแรงลดลง ส่วนเรื่องของเชื้อกลายพันธุ์ ขณะนี้เดลตา พลัส ไม่น่าห่วง ยังไม่มีกลายพันธุ์ในจุดอื่นที่กระทบต่อวัคซีน พร้อมองค์การอนามัยโลก จับตาการติดเชื้อในสหราชอาณาจักร ที่พบว่า มีการติดเชื้อสูงขึ้น เกี่ยวกับสายพันธุ์หรือไม่ ขณะนี้มีรายงานจากต่างประเทศ พบการติดเชื้อโควิด -19 สายพันธุ์ ใหม่ B.1.1.529 ในแอฟริกา 6 คน บอสวานา 3 คน และ ฮ่องกง 1 คน โดยมีกลายพันธุ์ 32 จุด ที่เกี่ยวกับสไปร์ทโปรตีน จึงมีความกังวลจะส่งผลต่อวัคซีน เนื่องจากกระบวนการผลิตวัคซีน มีการนำเอาสไปร์ทโปรตีนไปพัฒนา อาจส่งผลต่อภูมิคุ้มกัน
ศ.นพ.ประสิทธิ์ ยังกล่าวชื่นชมประเทศที่มีการเปิดประเทศและประสบความสำเร็จ ไม่ต้องกลับมาปิดประเทศอีก ได้แก่ ญี่ปุ่น อิสราเอล ทั้งนี้เพราะทุกคนเคร่งเครัดมาตรการ สำหรับในประเทศไทยช่วงเดือนธันวาคมก็น่าเป็นห่วง เพราะเป็นวันหยุดยาว และช่วงของการเฉลิมฉลองไม่ต่างกับสงกรานต์ และเป็นการรวมของ 3 ปัจจัย ทั้งคนเสี่ยง สถานที่ และกิจกรรมเสี่ยง และทำให้เกิดช่วงเวลาเสี่ยง ดังนั้นขอให้ระวังและเคร่งครัดมาตรการป้องกันตัวเอง และผู้ประกอบการก็ต้องเคร่งครัดเช่นกัน ทั้งการฉีดวัคซีนให้ครบในพนักงาน และการตรวจหาเชื้อด้วย ATK คนเข้าไปใช้บริการก็ต้องระมัดระวังไม่ไปเพิ่มความเสี่ยงในสถานที่ หากทำได้ก็จะช่วยให้ไม่มีต้องการล็อกดาวน์อีก และไม่กระทบต่อเศรษฐกิจอย่างที่หลายคนวิตกกังวล .-สำนักข่าวไทย