กทม.9 พ.ย.- ผอ.สำนักสิ่งแวดล้อม กทม.แจงไม่ตัดต้นตีนเป็ดทิ้ง ใช้วิธีฉีดน้ำแรงดันสูง ช่วยลดช่อดอกเพื่อช่วยลดกลิ่น หลังมีประชาชนบางส่วนมีอาการแพ้กลิ่น เวียนศีรษะ เนื่องจากแต่ละต้นปลูกนานกว่า 20–30 ปี อีกทั้งมีประโยชน์ ให้ร่มเงา ช่วยฟอกอากาศ และลดฝุ่นละออง PM2.5
นายวิรัตน์ มนัสสนิทวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร (กทม.)เปิดเผยว่า ตามที่มีกระแสข่าวว่ากลิ่นดอกของต้นพญาสัตบรรณ หรือต้นตีนเป็ด ที่ออกดอก ในช่วงฤดูหนาวพร้อมกันจำนวนมาก ส่งผลกระทบต่อประชาชนบางส่วนทำให้เกิดอาการแพ้ วิงเวียนศีรษะ บางรายที่แพ้อาจเป็นลมหมดสติ กรุงเทพมหานคร โดยสำนักสิ่งแวดล้อม จึงร่วมกับสำนักงานเขต สำรวจจำนวนต้นพญาสัตบรรณบนถนนสายต่าง ๆ ในพื้นที่กรุงเทพฯ พบว่า มีจำนวนประมาณ 2,000 กว่าต้น อาทิ ถนนเกษตร-นวมินทร์ จำนวน 965 ต้น ถนนร่มเกล้า จำนวน 327 ต้น ถนนรามคำแหง 352 ต้น ถนนหม่อมเจ้าสาย ทางเข้าบึงกระเทียม จำนวน 212 ต้น และในสวนสาธารณะต่าง ๆ ประมาณ 500 ต้น จึงหาวิธีการแก้ไขเพื่อลดผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประชาชน โดยไม่ตัดโค่นต้นทิ้ง
ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม กล่าวต่อไปว่า จากการสำรวจต้นพญาสัตบรรณหรือต้นตีนเป็ด พบว่าแต่ละต้นปลูกมานานกว่า 20–30 ปี เนื่องจากเป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ที่โตไว ให้ร่มเงาและความร่มรื่นได้ดี โดยจะออกดอกเพียงแค่ 1–2 เดือนในช่วงฤดูหนาวเท่านั้น จึงถือว่าต้นไม้มีประโยชน์ นอกจากจะให้ร่มเงายังช่วยฟอกอากาศและลดฝุ่นละออง PM2.5 สำนักสิ่งแวดล้อมจึงพิจารณาแนวทางแก้ไขปัญหากลิ่นของดอกตีนเป็ด โดยการนำรถฉีดน้ำแรงดันสูง ฉีดไปที่ช่อดอกเพื่อทำให้ช่อดอกร่วง เป็นการช่วยลดช่อดอก ส่งผลให้ลดกลิ่นไปด้วย ซึ่งเป็นวิธีที่ กทม.เคยได้นำมาทดลองใช้เพื่อลดช่อดอกของดอกไม้ในสวนสาธารณะ นอกจากนี้เมื่อจะมีการปลูกไม้ยืนต้นเพิ่มเติม จะเลือกปลูกไม้ยืนต้นชนิดอื่น เช่น รวงผึ้ง ประดู่ พิกุล เป็นต้น .-สำนักข่าวไทย