สำนักข่าวไทย 3 ม.ค. –อธิบดีกรมวิทย์ แจงที่มาวัคซีนโควิดของไทย เดือนกุมภาพันธ์ได้แน่ มาจากซิโนแวกของจีน 2 แสนโดส จากนั้นทยอยมีนาคมและเมษายน จนครบ 2 ล้านโดส ส่วนวัคซีนแอสตรา เริ่มการทดลองผลิตแล้ว 2 ครั้ง หากครบ 5 ครั้ง ต้องยื่น อย.รับรอง ย้ำมาตรฐานวัคซีนเท่ายุโรป คาดเริ่มการผลิตจริงเมษายน
นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวชี้แจงกรณีวัคซีนป้องกันโควิด-19 ในไทย ว่า นอกจากรอเรื่องการผลิตวัคซีน ร่วมกับบริษัทแอสตราเซนเนกา แล้ว ไทยยังมีการเจรจาจัดซื้อวัคซีนกับบริษัทซิโนแวก ของสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยคาดว่าวัคซีนจะได้รับปลายกุมภาพันธ์ จำนวน 2 แสนโดส จากนั้นเดือนมีนาคม อีก 8 แสนโดส และเดือนเมษายนอีก 1 ล้านโดส ส่วนของบริษัทแอสตราเซนเนกา ที่ร่วมกับ บริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ คาดว่าจะได้รับในเดือนพฤษภาคม ที่จะทยอยมาจนได้รับครบ 26 ล้านโดส ซึ่งการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนในประเทศ ตั้งเป้าวางไว้ให้ได้ ร้อยละ 50
นพ.นคร เปรมศรี ผอ. สถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวว่า ประเทศไทยไม่ได้มีการเจรจาสั่งซื้อวัคซีนกับบริษัทเดียว แต่มีการเจรจากับหลายประเทศ แต่การจะได้รับวัคซีนขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง ทั้งการเจรจา การจองซื้อ ที่ทำกันมาตั้งแต่กรกฎาคมปี 2563 และขอชี้แจงว่า วัคซีนในโลกนี้ ยังไม่มีประเทศไหนในโลกมีการผลิตและเสร็จสิ้นการทดลองในเฟส 3 การที่มีข่าวฉีดวัคซีนในต่างประเทศ ขณะนี้ส่วนใหญ่เป็นการฉีดวัคซีนแบบมีเงื่อนไขในภาวะฉุกเฉินเท่านั้น พร้อมย้ำ การที่มีภาคเอกชนเข้ามาเกี่ยวข้องกับเรื่องของการจอง ฉีดวัคซีนล่วงหน้านั้น ทุกอย่างต้องผ่าน อย. ก่อน แต่ขณะนี้ยังไม่มีภาคเอกชน จองหรือสั่งซื้อวัคซีน ก็เข้าข่ายผิดระเบียบการโฆษณาของ อย.
ดร.ทรงพล ดีจงกิจ กรรมการผู้จัดการ บริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด กล่าวว่า การรับการถ่ายทอดเทคโนโลยี จาก บริษัทแอสตราเซนเนกา ร่วมกับ มหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด นั้น จะต้องมีคุณภาพเช่นเดียวกับการผลิตในประเทศอื่นๆ ทั่วโลก เช่นเดียวกับยุโรป โดยขณะนี้เริ่มกระบวนการทดลองผลิต ซึ่งต้องดำเนิน 5 รอบด้วยกัน เริ่มการทดลองผลิตในครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 แล้ว แต่ละรอบการทดลอง จะต้องห่างกัน 14 วัน กระบวนการทดลองใช้เวลา 60 วัน จากนั้นทดลองคุณภาพอีก 60 วัน และหากครบการทดลองทั้ง 5 รอบ ต้องยื่นผลการทดสอบต่อ อย. คาดว่าจะเริ่มกระบวนการผลิตจริงได้ในเดือนเมษายน ลอตแรกผลิตได้ 3.4- 5 ล้านโดส .-สำนักข่าวไทย