กทม. 17 พ.ย.- ผู้ว่าฯ กทม. วางแผนเตรียมรับมือฝุ่น PM 2.5 เน้นใช้แอป BKK พยากรณ์ล่วงหน้า 3 วัน หากค่าฝุ่นวิกฤติเกิน 100 มคก./ลบ.ม. ให้นายกฯ บัญชาการสั่งปิดการก่อสร้างรถไฟฟ้า และห้ามรถยนต์วิ่ง เพื่อคุมสถานการณ์ ด้านนักวิชาการแนะปรับปรุงคุณภาพรถยนต์และน้ำมัน ช่วยลดฝุ่นตรงจุดมากกว่าฉีดน้ำ
พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) พร้อมด้วย ร.ต.อ.พงศกร ขวัญเมือง โฆษกกรุงเทพมหานคร และผู้บริหาร กทม. ร่วมประชุมคณะกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ในพื้นที่ กทม. โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กระทรวงมหาดไทย กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงสาธารณสุข ตำรวจ และอาจารย์จากสถาบันการศึกษาและสมาคมสิ่งแวดล้อม มาร่วมให้ข้อเสนอแนะแนวทางในการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก ซึ่งฝุ่นละอองขนาดเล็กมักเกิดปัญหาเกินค่ามาตรฐาน 50 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร โดยพบว่าในเดือนธันวาคม-กุมภาพันธ์ มักเกินมาตรฐาน เนื่องจากสภาพอากาศปิด ทำให้ฝุ่นไม่สามารถลอยตัวได้ ประกอบกับพื้นที่ กทม.เป็นแอ่งกระทะ ทำให้ฝุ่นไม่ลอยตัวขึ้นสูง ส่งผลต่อสุขภาพประชาชน
จากการตรวจวัดค่าฝุ่นละออง PM 2.5 ในพื้นที่ กทม. ระหว่างวันที่ 21 ตุลาคม – 15 พฤศจิกายน 2563 แม้จะไม่เกินมาตรฐาน และวัดค่าสูงสุดพบใน 3 เขต ได้แก่ หนองแขม 42 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร รองลงมา เขตประเวศ พระโขนง และบางกอกใหญ่ วัดได้ 36 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร และรองลงมา เขตบางคอแหลม ธนบุรี ป้อมปรามศัตรูพ่าย ทวีวัฒนา และบางบอน วัดได้ 34 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร
ร.ต.อ.พงศกร กล่าวว่า จากการประชุมได้สรุปบทบาทและอำนาจของผู้ว่าฯ กทม. ให้เป็นผู้บัญชาการสถานการณ์ฝุ่นขนาดเล็ก ในปริมาณที่เกิน 50 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร สามารถออกคำสั่งในนาม กทม. ให้โรงเรียนงดกิจกรรมกลางแจ้ง รวมถึงหยุดการเรียนการสอนโรงเรียน 3 วัน เพื่อควบคุมสถานการณ์, ห้ามจอดรถยนต์ริมถนน ในสายหลักและสายรอง, จัดเซฟโซนในโรงเรียนสังกัด กทม. และเด็กเล็ก และในส่วนของรถเก็บขยะมูลฝอยของ กทม. ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จก่อน 4 โมงเย็น แต่หากค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กเกิน 100 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร จะเป็นอำนาจของนายกรัฐมนตรีตามกฎหมาย โดยมีอำนาจตั้งแต่ให้หยุดการก่อสร้างรถไฟฟ้า และหยุดการเรียนการสอนในโรงเรียนไม่เกิน 15 วัน และงดการใช้รถยนต์ ทั้งในภาครัฐและเอกชน โดยเริ่มในหน่วยงานของ กทม.ก่อน จากนั้นเป็นหน่วยงานของราชการอื่นๆ
ร.ต.อ.พงศกร กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่สามารถพยากรณ์ได้ว่า ฝุ่นจะรุนแรงกว่าปีที่ผ่านมาหรือไม่ เพราะเหมือนกับการพยากรณ์สภาพอากาศ เพียงแต่ทาง กทม.ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จิสด้า จัดทำแอปพลิเคชัน BKK ซึ่งเป็นการพยากรณ์ค่าฝุ่น PM 2.5 ล่วงหน้า 3 วัน ให้ประชาชนได้รับมือกับสถานการณ์ฝุ่น นอกจากนี้ยังได้เน้นย้ำการฉีดน้ำ ลดฝุ่น เน้นในการฉีดใบไม้ ถนน เขตก่อสร้าง และบนอาคาร เพื่อลดฝุ่น นอกจากนี้ยังเปิดคลินิกมลพิษทางอากาศ 3 แห่ง ได้แก่ รพ.กลาง รพ.เจริญกรุงประชารักษ์ และ รพ.ตากสิน พร้อมเน้นย้ำทุกเขตป้องกันการเผาในที่โล่งแจ้ง เพื่อลดฝุ่น รวมถึงรถบรรทุก 6 ล้อขึ้นไป ในพื้นที่ กทม.ชั้นใน ห้ามวิ่งเด็ดขาด ตั้งแต่เวลา 06.00-21.00 น. ในพื้นที่วงแหวนรัชดาภิเษก ถึงวงแหวนกาญจนาภิเษก เป็นเวลา 3 เดือน และเปิดสายด่วน 1584
รศ.วงศ์พันธ์ ลิมปเสนีย์ อดีตอาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การคาดการณ์ค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก เป็นเรื่องทำได้ยาก ไม่เหมือนกับสภาพอากาศ แต่หากไม่มีการวางแผนทำอะไรเลย จะมีความรุนแรงมากกว่านี้แน่นอน สิ่งสำคัญที่จะแก้ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กได้ดีที่สุด คือ ลดการเผาไหม้ของเครื่องยนต์ ทั้งการปรับเปลี่ยนการใช้น้ำมันคุณภาพและรถยนต์.-สำนักข่าวไทย