ยธ.8 ต.ค. – รมว.ยุติธรรม รับม็อบบางกลอย-หลีเป๊ะ ที่ปิดล้อมทำเนียบ ส่งกรมคุ้มครองสิทธิ์ฯ-กรมบังคับคดี แก้ปัญหา
พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้เปิดโอกาสให้แกนนำมวลชนชาวบางกลอย เข้าพูดคุยรับฟังปัญหาจากกรณีที่มายื่นเรื่องร้องเรียนที่ทำเนียบฯ เกี่ยวกับปัญหาที่ดินทำกิน โดยแกนนำผู้ชุมนุม กล่าวว่า ชาวบ้านมาร้องเรียนที่ทำเนียบ 2 เรื่องคือ 1.ให้เร่งรัดการแต่งตั้งประธานคณะกรรมการที่มาดำรงตำแหน่งแทน พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล อดีตรอง ผบ.ตร. เป็นประธานฯ ที่หมดวาระ จึงทำให้ทางเอกชนเร่งรัดเอาที่ดินคืน ทั้งนี้ แกนนำชาวบ้านมีความเห็นว่าคนที่จะมาเป็นประธานแทน พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ นั้น น่าจะเป็นนายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ อดีตปลัดกระทรวงยุติธรรม โดยชาวบางกลอย กำลังได้รับความเดือดร้อนอย่างมากจากการที่เอกชนให้มีการบังคับคดีให้ชาวบ้านรื้อถอนออกจากที่ดินทั้งหมด 30 คดี ในจำนวนนี้มีเยาวชน 2 คน ขณะนี้ถึงขั้นตอนที่ศาลตัดสินคดีแล้ว ว่าตนเองอยู่ในที่ดินของเขา แต่ไม่ได้มีการพิจารณาประเด็นว่าเป็นเอกสารที่ดินถูกกฎหมายหรือไม่ พร้อมกันนี้ ยังได้สะท้อนปัญหาเพิ่มว่ายังมีชาวบ้านประสบปัญหาลักษณะเดียวกันนี้ที่ถูกฟ้อง 34 ราย และ 339 ครอบครัว ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ดีเอสไอ แจ้งว่า จากการที่ DSI สืบสวนกรณีที่ดินแปลงดังกล่าว ทราบว่าคนที่ถือครอง สค.1 ระบุจำนวน 19 ไร่ แต่ครอบครองจำนวน 22 ไร่ ซึ่งดีเอสไอได้ทำเรื่องเพิกถอนสิทธิการครอบครองที่ดินแปลงนี้แล้ว เนื่องจากดีเอสไอพบว่าอาจเป็นการแจ้งการถือครองที่แปลงนี้โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย พร้อมกันนี้ได้ส่งเรื่องไปยังป.ป.ช.แล้ว แต่ยังไม่ได้มีการชี้มูลคดีนี้ และขณะนี้ยังอยู่ในขั้นตอนของการไกล่เกลี่ยระหว่างชาวบ้านกับเอกชน ซึ่งจะมีระยะเวลาถึงมกราคม 2568
พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า เบื้องต้นจะให้ทางกระทรวงยุติธรรมให้ความช่วยเหลือชาวบ้าน โดยช่วยดำเนินการยื่นเรื่องขอให้ชะลอการบังคับคดีให้ทันก่อนที่จะสิ้นสุดระยะเวลาของการไกล่เกลี่ยคดี มกราคม 2568 พร้อมทั้งให้ยื่นเรื่องต่อศาลโดยแนบการสืบสวนของ DSI การได้มาเอกสารสิทธิ์ สค.1 น่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย ส่วน ปัญหาข้อพิพาทระหว่างรัฐกับเอกชนเรื่องกรรมสิทธิ์ถือเป็นปัญหาใหญ่ปัญหาหนึ่ง ซึ่งกรณี “บางกลอย” เป็นเรื่องที่ยาวนานและเป็นคดีที่ผู้ถูกดำเนินคดีมีความเชื่อมั่นว่าอยู่อาศัยในพื้นที่มาก่อนที่รัฐจะประกาศเป็นเขตอุทยาน และเรื่องอยู่ในชั้นพนักงานอัยการ จึงมอบหมายให้กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพดำเนินการตรวจสอบว่าจะช่วยเหลือในเรื่องใดได้ และจะมอบให้กองทุนยุติธรรมเข้าไปช่วยสนับสนุนเรื่องทนายความหรือหลักทรัพย์ที่ใช้ในการดำเนินคดี ซึ่งต้องขอตรวจสอบในรายละเอียดอีกครั้ง ส่วนกรณี “หลีเป๊ะ” เป็นอีกเรื่องในทำนองเดียวกันแต่เป็นเรื่องของเอกชนฟ้องเอกชน โดยเรื่องอยู่ในชั้นบังคับคดีจึงมอบหมายให้กรมบังคับคดีดำเนินการไกล่เกลี่ย หรือถ้ามีหลักฐานใหม่ที่จะสามารถรื้อฟื้นหรือให้ความเป็นธรรมได้ให้ดำเนินการตรวจสอบ ซึ่งทั้ง 2 เรื่องกระทรวงยุติธรรมจะรับไปดูแลโดยในรายละเอียดต้องอยู่ที่ข้อเท็จจริงและหลักฐาน.-119-สำนักข่าวไทย