กรุงเทพฯ 27 ส.ค. – กทม.แจงมาตรการรับมือน้ำเหนือ-น้ำฝน เผยภาพรวมยังรับมือน้ำเหนือได้ พร้อมเฝ้าระวังต่อเนื่อง คาดน้ำจากสุโขทัยเข้า กทม.ใน 6 วัน เสริมคันกั้นน้ำริมเจ้าพระยาสูงกว่าปี 54 พร้อมรับมือ
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. แถลงข่าวระบุว่า ใน กทม.กังวลปริมาณน้ำฝน เพราะหากตกสะสมถึง 200 มิลลิเมตร ก็จะเกิดปัญหาได้ เพราะท่อระบายน้ำที่ออกแบบมารองได้ประมาณ 60 มิลลิเมตร ส่วนน้ำเหนือจากภาพรวมตอนนี้ปริมาณน้ำไม่น่ากังวล น่าจะยังรองรับได้อยู่แต่เราก็ต้องไม่ประมาท ขอให้ประชาชนสบายใจว่าสถานการณ์โดยรวมไม่มีอะไรซ้ำรอย ปี 54 ซึ่งในกรุงเทพฯ จะห่วงปริมาณฝนที่ตกหนักเป็นบางจุด บางพื้นที่และอาจจะระบายไม่ทัน
ด้านนายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าฯ กทม. พร้อมด้วยสำนักการระบายน้ำและผู้เกี่ยวข้อง เปิดเผยถึงการเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์น้ำเหนือและน้ำฝนของกรุงเทพมหานคร ว่า กทม.ได้ติดตามสถานการณ์และประสานข้อมูลร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมชลประทาน ศูนย์อำนวยการน้ำแห่งชาติ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ อยู่เป็นประจำ เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์น้ำที่อาจส่งผลให้เกิดน้ำท่วมในบางพื้นที่ของกรุงเทพมหานครได้
โดยสถานการณ์น้ำ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา ได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยฯ และเขื่อนป่าสัก เปรียบเทียบ ณ วันและเวลาเดียวกัน (25 ส.ค.66 กับ 25 ส.ค.67) พบว่าปีนี้ดีกว่าและยังสามารถรองรับน้ำได้เพิ่ม ทั้งนี้ ต้องเฝ้าระวังและติดตามอย่างใกล้ชิดจากมวลน้ำที่มาจากแม่น้ำยม ซึ่งจะไม่ไหลเข้าเขื่อนหลักและระบายลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา
ปัจจุบันมวลน้ำไหลลงมาถึงจังหวัดสุโขทัย และคาดว่าจะมาถึงกรุงเทพมหานคร ใช้เวลาประมาณ 6 วัน (2 ก.ย. 67) โดยอัตราการระบายน้ำที่ต้องเฝ้าระวังก่อนถึงกรุงเทพมหานครคือที่สถานีบางไทร ซึ่งอัตราการระบายน้ำที่สถานีบางไทร ณ วันที่ 26 สิงหาคม 2567 เฉลี่ยอยู่ที่ 989 ลบ.ม./วินาที โดยอัตราการระบายน้ำที่ต้องเฝ้าระวังอยู่ที่ 2,500 ลบ.ม./วินาที
รองผู้ว่าฯ กทม. ยังเปิดเผยว่า ได้เตรียมพร้อมการบริหารจัดการน้ำและระบบป้องกันน้ำท่วมต่าง ๆ และตรวจสอบความแข็งแรงและจุดรั่วซึมของแนวป้องกันน้ำท่วมริมแม่น้ำเจ้าพระยา คลองบางกอกน้อย และคลองมหาสวัสดิ์ ความยาวประมาณ 80 กิโลเมตร ซึ่งหลังจากปี 54 เป็นต้นมา ได้เสริมแนวคันกั้นน้ำถาวรริมเจ้าพระยาสูงขึ้นตลอดแนวที่ระดับ 2.80-3.50 ม.รทก. และเรียงกระสอบทรายเป็นเขื่อนชั่วคราวในบริเวณที่ไม่มีแนวป้องกันน้ำถาวร (แนวฟันหลอ) และบริเวณแนวป้องกันที่มีระดับต่ำตามจุดต่าง ๆ รวมทั้งตรวจสอบความพร้อมของสถานีสูบน้ำริมแม่น้ำเจ้าพระยา จำนวน 96 สถานี และบ่อสูบน้ำตามแนวริมแม่น้ำเจ้าพระยาทั้ง 2 ฝั่ง ในช่วงน้ำทะเลขึ้น พร้อมทั้งจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังประจำจุด เครื่องสูบน้ำสำรอง เรือผลักดันน้ำ กระสอบทราย ตลอดจนเตรียมความพร้อมเจ้าหน้าที่หน่วยปฏิบัติการเร่งด่วนเคลื่อนที่ และอุปกรณ์ต่าง ๆ ให้พร้อมปฏิบัติการและช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ทันทีเมื่อเกิดเหตุน้ำท่วม ตลอด 24 ชั่วโมง
สำหรับชุมชนนอกคันกั้นน้ำแม่น้ำเจ้าพระยา จำนวน 16 ชุมชน 731 ครัวเรือน ในพื้นที่ 7 เขต ซึ่งอาจจะได้รับผลกระทบและความเดือดร้อนจากน้ำท่วม ได้สั่งการให้สำนักงานพื้นที่ เขตดุสิต พระนคร สัมพันธวงศ์ บางคอแหลม ยานนาวา บางกอกน้อย และเขตคลองสาน ประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนชุมชนและให้เตรียมขนย้ายสิ่งของให้อยู่ในที่สูง หากเกิดปัญหาระดับน้ำขึ้นสูง นอกจากนี้ได้สั่งการสำนักงานเขตที่มีพื้นที่อยู่ตามแนวริมแม่น้ำเจ้าพระยาสำรวจพื้นที่บ้านเรือนของประชาชน จัดเตรียมกำลังเจ้าหน้าที่เพื่อช่วยเหลือประชาชนในกรณีฉุกเฉินต่าง ๆ อย่างทันท่วงที
ขณะที่ปริมาณฝนในพื้นที่ กทม.ปี 2567 พบว่า ในเดือนสิงหาคมมีปริมาณฝนอยู่ที่ 208.5 มิลลิเมตร มีค่าน้อยกว่าปี 2566 ซึ่งมีค่าอยู่ที่ 224 มิลลิเมตร และปริมาณฝนสะสมในปี 2567 อยู่ที่ 842.5 มิลลิเมตร มีค่าใกล้เคียงกับปี 2566 อยู่ที่ 811.50 มิลลิเมตร ทั้งนี้ จากสถานการณ์ฝนในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่า กทม.มีความพร้อมในด้านอุปกรณ์และเจ้าหน้าที่ รวมไปถึงความพร้อมของประตูระบายน้ำและคันกั้นน้ำริมแม่น้ำในการรับมือกับทั้งน้ำฝน น้ำเหนือ และน้ำทะเลหนุนที่เกิดขึ้น
โดยการรับมือสถานการณ์ฝนของ กทม. ที่ดำเนินการต่อเนื่องมาตลอด คือ การลดระดับน้ำรองรับสถานการณ์ฝน พร่องน้ำในคลอง สร้างธนาคารน้ำ (water bank) แก้มลิง การเตรียมความพร้อมระบบระบายน้ำ โดยล้างทำความสะอาดและบำรุงรักษา อุโมงค์ระบายน้ำ ประตูระบายน้ำ และสถานีสูบน้ำ แล้วเสร็จ 100% ทุกจุด รวมถึงการเตรียมความพร้อมอุปกรณ์และเจ้าหน้าที่ ทำให้น้ำท่วมขังหลังฝนตกหนักในปีนี้ลดลงเร็ว
หลังการแถลง กทม.ได้มีการลงเรือตรวจสอบความพร้อมแนวป้องกันน้ำท่วมริมแม่น้ำเจ้าพระยา จากท่าเรือส่วนการท่องเที่ยว ใต้สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า เขตพระนคร ถึงวัดสร้อยทอง เขตบางซื่อ เพื่อดูความแข็งแรงในการเสริมคันกั้นน้ำของกทม.ที่รองรับสถานการณ์น้ำ.-417-สำนักข่าวไทย