กรุงเทพฯ 7 พ.ค. – กทม.เรียกทุกหน่วยงานเกี่ยวข้องกับงานฝาท่อ งานก่อสร้างชั่วคราว วางแนวทางอุดช่องโหว่ ย้ำ กฟน.ปรับระบบหลังบ้าน หลังมีประชาชนแจ้งผ่านทราฟฟี่ฟองดูว์ เร่งแก้ไขให้ได้ภายใน 24 ชม. และมีการตรวจสอบย้อนกลับ ขณะ กฟน.เผยแผนเตรียมเปลี่ยนวัสดุ ฝาท่อจากเหล็ก เป็นคอนกรีตผสมไฟเบอร์ ป้องกันถูกขโมย
นายณรงค์ เรืองศรี รองปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมติดตามมาตรการป้องกันอุบัติเหตุจากการก่อสร้างบ่อพักที่ไม่เรียบร้อย และการแก้ไขเรื่องร้องเรียนของประชาชน โดยฝ่ายเกี่ยวข้องส่วนของ กทม. มีสำนักงานก่อสร้างและบูรณะ สำนักงานวิศวกรรมทาง กองควบคุมการก่อสร้าง กองแผนงาน และประสานสาธารณูปโภค สำนักการระบายน้ำ สำนักการจราจรและขนส่ง ร่วมกับหน่วยงานสาธารณูปโภคภายนอก ประกอบด้วย ตัวแทนจากการไฟฟ้านครหลวง การปะปานครหลวง บริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย และกรมทางหลวง ซึ่งเป็นหน่วยงานภายนอกที่รับผิดชอบเกี่ยวข้องกับฝาท่อในพื้นที่ กทม. โดยเฉพาะเหตุการณ์คนตกท่อกลางถนน บริเวณปากซอยลาดพร้าว 49 และอีกหลายกรณีที่เกิดจากฝาท่อจนได้รับบาดเจ็บ
นายณรงค์ เรืองศรี รองปลัด กทม. เปิดเผยว่า วันนี้ได้ข้อสรุปเกี่ยวกับมาตรการป้องกัน และความปลอดภัยฝาท่อ โดยเฉพาะกับ กฟน. ที่เน้นย้ำว่าจะเข้มการตรวจสอบ ทั้งก่อน ระหว่าง และหลังก่อสร้าง ทั้งสภาพบ่อพัก และงานก่อสร้างใดที่ไม่เรียบร้อย กทม.ย้ำให้มีการตรวจสอบตลอดเวลา และต่อเนื่องให้มีสภาพสมบูรณ์ และ กทม.จะเน้นย้ำให้สำนักส่วนกลางที่เกี่ยวข้อง และสำนักงานเขต ตรวจตราและหากพบความผิดปกติของงานก่อสร้างให้แจ้ง และดำเนินการแก้ไขภายใน 24 ชม. กทม.ยังย้ำการบูรณาการแก้ไขหลังมีการร้องเรียน จาก ปชช. ผ่านระบบทราฟฟี่ ฟองดูว์ ซึ่งหากเป็นหน่วยงานภายนอก แก้ไขแล้วแต่ไม่ได้มาตรฐานนั้น อาจต้องมีการตรวจสอบเพิ่มเติมด้วยว่าหลังแก้แล้วได้มาตรฐานปลอดภัยหรือไม่
รองปลัด กทม. ยังเปิดเผยว่า ส่วนล่าสุดที่เกิดเหตุรถจักรยานยนต์เสียหลัก ล้มในอุโมงค์มไหสวรรย์ทำให้ผู้ขับขี่พลัดตกลงไปในร่องระบายน้ำเสียชีวิต นั้น จากการตรวจสอบเบื้องต้นอุโมงค์ทางลอดจะไม่อนุญาตให้รถจักรยานยนต์สัญจรผ่าน โดยฝาบ่อพักน้ำที่เกิดช่องว่างและหายไป หน่วยงานที่รับผิดชอบจะต้องมีมาตรการตรวจสอบและติดตามอย่างต่อเนื่องซึ่งอยู่ระหว่างการหาแนวทางร่วมกัน สำหรับฝาท่อในอุโมงค์ทางลอดมีความกว้างประมาณ 1 เมตร เพื่อเป็นทางเดิน ในการเข้าไปซ่อมบำรุงรักษาระบบสูบน้ำและระบบระบายน้ำภายในอุโมงค์ ยอมรับการตรวจสอบมีช่องโหว่ที่ทำให้ตรวจสอบไม่ได้อย่างต่อเนื่อง ไม่สามารถดูได้ 24 ชม. ซึ่งมีการพูดคุยกันว่าอาจจะทำระบบล็อคฝา หรือปรับชนิดของฝา เพิ่มระบบเอไอตรวจสอบสถานะของฝาท่อ ซึ่งทุกฝาจะมีเจ้าของหน่วยงานก็ต้องดูแลให้ดี กทม.ได้ย้ำทุกหน่วยงานรับผิดชอบว่า ฝาต้องไม่หาย มีความแข็งแรง และในจุดก่อสร้างต้องติดป้ายแจ้งเตือนจุดไหนมีบ่อพักให้ ปชช.ทราบ
ด้านนายสถิตย์ พงศธรวิบูลย์ ผู้ช่วยผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) เปิดเผยว่า กฟน.พร้อมเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบในทุกเคสและจะปรับปรุงการตรวจสอบความปลอดภัยในการดำเนินการโครงการก่อสร้าง โดยจะมีการนำระบบเอไอมาใช้ตรวจสอบความปลอดภัยของการดำเนินการในโครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง ซึ่งระบบจะมอนิเตอร์ส่งภาพและเสียง เช่น จุดไหนมีฝาบ่อชั่วคราวทรุดบนถนน ปิดฝาไม่เรียบ รายงารแบบเรียลไทม์ จะส่งข้อมูลแจ้งตรงไปรับผิดชอบเพื่อเข้ามาแก้ไข โดยเริ่มมีการทดสอบแล้วตั้งแต่ช่วงต้นปี 67 จำนวน 3-4 จุด บริเวณถนนพระราม 3 ในส่วนการก่อสร้างบ่อพักสายใต้ดินชั่วคราว นอกจากนี้ กฟน.ได้ดำเนินการทดสอบปรับเปลี่ยนรูปแบบวัสดุฝาบ่อพักเดิมเป็นเหล็ก โดยจะเปลี่ยนเป็นคอนกรีตผสมไฟเบอร์ เพื่อป้องกันการขโมยฝาเหล็ก ซึ่งได้มีการทดลองใช้จริงบางจุดแล้ว หากได้ผลดีจะนำมาเปลี่ยนในจุดฝาท่อที่เป็นจุดเสี่ยงจะถูกขโมย
ขณะที่ปัจจุบันในพื้นที่ กทม.มีจำนวนบ่อพักของ กฟน.ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างเป็นลักษณะฝาชั่วคราว จำนวน 400-500 บ่อ และมีฝาบ่อพักท่อร้อยสายไฟฟ้าใต้ดินในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่เป็นเหล็ก 1,877 บ่อ ซึ่งหนึ่งบ่อมีฝาท่อ 1-3 ฝา ซึ่งหากการทดสอบวัสดุฝาท่อใหม่ สำเร็จก็จะเริ่มทยอยเปลี่ยนฝาที่เป็นเหล็กในจุดเสี่ยงที่จะโดนขโมยก่อน
ส่วนกรณีมีผู้ตกท่อจนเสียชีวิตที่ลาดพร้าว 49 นั้น ย้ำว่าจะมีการเยียวยาอย่างเต็มที่และอยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อเท็จจริงทั้งหมดจากผู้รับเหมาที่รับช่วงต่อว่ามีการส่งต่องานถูกต้อง และมีการตรวจความปลอดภัยตามใบรายงานประจำวันหรือไม่ ซึ่งการใช้แผ่นไม้ไปวางปิดชั่วคราวแบบนั้น ย้ำว่าไม่เป็นไปตามมาตรฐาน.-417-สำนักข่าวไทย