กรุงเทพฯ 3 ส.ค. – กทม.หารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งสางปัญหานอมินีผู้ประกอบกิจการชาวต่างชาติ โดยให้ทุกเขตไปตรวจสอบ
(3 ส.ค.66) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมหัวหน้าหน่วยงานของกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 8/2566 โดยผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า วันนี้เป็นการประชุมหัวหน้าหน่วยงาน ได้มีการเน้นย้ำเรื่องต่างๆ โดยให้ทุกเขตไปตรวจสอบเรื่องธุรกิจของชาวต่างชาติ โดยไม่ได้เน้นเพื่อไปจับผิด เพราะธุรกิจเหล่านี้สามารถมองได้อีกมุม คือ การกระตุ้นการท่องเที่ยวจากคนต่างชาติ อย่างไรก็ตาม หากมีการกระทำที่เป็นลักษณะของนอมินี (การถือหุ้นแทนคนต่างชาติ หรือการอำพรางชื่อผู้ถือหุ้นที่แท้จริง เพื่อหลีกเลี่ยงกฎหมาย) จะประสานกับกระทรวงพาณิชย์ รวมถึงตรวจสอบว่า การนำเข้าของต่างประเทศมาขายดำเนินการอย่างถูกต้องหรือไม่
สำหรับกรณีที่เขตห้วยขวางมีธุรกิจของคนจีนจำนวนมากในพื้นที่ จากการตรวจสอบพบว่า มีการกระทำผิดอยู่ 4 แห่ง เช่น ขายของโดยไม่มีฉลาก ไม่มีการจดทะเบียนการค้าต่างๆ ส่วนในพื้นที่เขตสัมพันธวงศ์ ซึ่งมีพื้นที่เยาวราช ก็เป็นอีกเป้าหมายหนึ่งที่เน้นย้ำให้ไปตรวจสอบ
พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวเสริมว่า เมื่อวันที่ 1 ส.ค.ที่ผ่านมา ได้เชิญส่วนราชการที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ กทม. และตำรวจ มาพูดคุยกันที่สำนักงานเขตห้วยขวาง เพื่อหารือเกี่ยวกับระบบวิธีการทำงานในพื้นที่เขตห้วยขวาง กรณีมีชาวต่างชาติมาประกอบอาชีพอยู่เยอะ และปรากฏเป็นข่าวอยู่ในโซเชียลมีเดียต่างๆ ในลักษณะล้อเลียนว่า ที่นี่คือเมืองของประเทศนั้นประเทศนี้ จากการหารือได้รับข้อมูลในชั้นต้นว่า ชาวต่างชาติที่มาประกอบกิจการในพื้นที่เขตห้วยขวางใช้นอมินีแทบทั้งสิ้น เป็นการให้คนไทยถือหุ้นแทน แต่ไม่ใช่เจ้าของตัวจริง โดยในวันนั้น ผู้อำนวยการเขตสัมพันธวงศ์ได้ไปประชุมด้วย และได้ให้ข้อมูลว่า ในพื้นที่เขตสัมพันธวงศ์มีเยอะมาก ได้แนะนำให้ผู้อำนวยการเขตอื่น ควรศึกษา พ.ร.บ.ของกระทรวงพาณิชย์ มาตรา 42 ที่เกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ ซึ่งส่วนใหญ่จะมาขอเปิดประกอบกิจการในรูปแบบกิ๊ฟชอป และความเป็นจริงผู้จดทะเบียนเป็นคนไทย แต่แรงงานอาจไม่ใช่คนไทย
นอกจากนี้ ได้มีการหารือว่า หากเกิดเหตุในพื้นที่ ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ จากที่คุยกันได้ข้อมูลว่า ในพื้นที่เขตห้วยขวาง หรือพื้นที่อื่นๆ ที่มีเรื่องชาวต่างชาติ จะมีส่วนราชการจำนวนมากที่สามารถเข้าไปดูแลได้ ซึ่งแต่ละหน่วยงานก็มีบทบาทหน้าที่เฉพาะของตน เช่น ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงแรงงาน กระทรวงสาธารณสุข และ กทม. อีกทั้งในพื้นที่เขตห้วยขวาง มีสถานีตำรวจอยู่ 5 สถานี จากการหารือทำให้ทราบว่า ผู้อำนวยการเขตต้องเป็นผู้รับผิดชอบในฐานะเจ้าของพื้นที่ที่ดูแลฝ่ายปกครอง โดยเขตห้วยขวางจะเป็นต้นแบบสำหรับเขตอื่นๆ ในการทำงานต่อไป โดยที่ผ่านมามีการปิดไปแล้ว 4 ร้าน ที่ทำผิดเกี่ยวกับเรื่องผิดประเภทของการขออนุญาต
ผู้ว่าฯ กทม. ย้ำว่า กทม.ไม่ได้นิ่งนอนใจ พยายามเดินหน้าลุย โดยต้องบูรณาการกับหลายหน่วยงานด้วย ทั้งนี้ มีทั้งแง่บวกและแง่ลบ ซึ่งในแง่บวก ถ้าทำถูกกฎหมายก็เป็นการกระตุ้นเรื่องการท่องเที่ยวให้ชาวต่างชาติรู้สึกอุ่นใจเวลามาอยู่เมืองไทย แต่ในแง่ลบคือการผิดกฎหมาย ต้องดูว่า ของที่เอามาเสียภาษีไหม ไปแย่งอาชีพคนไทยไหม ต้องดูอย่างรอบคอบ ซึ่งพยายามจะตรวจสอบทุกเขต. – สำนักข่าวไทย