กรุงเทพฯ 12 ก.ค. – ส.ก.ลาดกระบัง ยื่นญัตติตั้ง คกก.วิสามัญตรวจสอบโครงการเมกะโปรเจกต์ใน กทม. พร้อมถอดบทเรียนป้องกันเหตุในอนาคต ย้ำคุณภาพของผู้รับเหมาเป็นสิ่งสำคัญ
นายสุรจิตต์ พงษ์สิงห์วิทยา ส.ก.เขตลาดกระบัง ยื่นญัตติขอให้สภากรุงเทพมหานครตั้งคณะกรรมการวิสามัญศึกษาตรวจสอบโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ในความรับผิดชอบของกรุงเทพมหานคร เพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน โดยกล่าวว่า ขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อผู้เสียชีวิต ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บและสูญเสีย เหตุการณ์นี้ไม่ใช่เหตุการณ์แรก ถามว่าเราเคยศึกษาถอดบทเรียนหรือมี Case Study หรือไม่ ที่ผ่านมาสภาได้ตั้งคณะกรรมการวิสามัญฯ หลายคณะ เนื่องจากที่ผ่านมาปัญหาหมักหมมมานาน คณะนี้จะศึกษาเชิงลึก วิเคราะห์ แยกแยะ ถอดบทเรียนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แม้จะไม่ได้อยู่ภายใต้การดูแลของ กทม. เราจะเชิญผู้ทรงคุณวุฒิมาเพื่อร่วมกันทำงาน ทั้งโครงการสะพานยกระดับถนนอ่อนนุช-ลาดกระบัง และโครงการอื่น ๆ หลังเกิดเหตุการณ์โศกนาฏกรรมในพื้นที่เขตลาดกระบัง เป็นโครงการเมกะโปรเจกต์ ซึ่งมีทั้งโครงการก่อสร้างโรงพยาบาลบางนา วชิรพยาบาล โรงพยาบาลหลวงพ่อทวีศักดิ์ฯ และโครงการของสำนักการระบายน้ำ โดยสามารถเชิญผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความเชี่ยวชาญมาร่วมให้ข้อมูล เพื่อให้ได้ผลการศึกษา เป็นการถอดบทเรียน เพื่อเป็นผลงานของสภากรุงเทพมหานคร ในการดูแลพี่น้องประชาชน
ส.ก.ลาดกระบัง กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า เมื่อวันที่ 18 ม.ค.ที่ผ่านมา ได้เคยตั้งกระทู้ถามสดในเรื่องสะพานแห่งนี้มาแล้ว ในขณะนั้นผลงานติดลบกว่า 40% การทำงานในเวลากลางคืนไม่มีไฟฟ้าส่องสว่าง ประชาชนได้รับความเดือดร้อน หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สน.ในพื้นที่ไม่ทราบความคืบหน้าใด ๆ ทั้งสิ้น เมื่อสอบถามไปยังเขตลาดกระบัง ก็ไม่สามารถให้คำตอบได้ เมื่อครั้งผู้ว่าฯ มาสัญจรที่เขตและลงพื้นที่ ได้กำชับทุกหน่วยงานดูแลปัญหาฝุ่นละออง การจราจร และปัญหาทั้งหมด สิ่งที่ประชาชนฝากมาถามคือ 1. ขอให้กรุงเทพมหานครเร่งตรวจสอบเมกะโปรเจกต์ต่าง ๆ โดยในพื้นที่ลาดกระบัง มีทั้งโครงการทางยกระดับอ่อนนุช-ลาดกระบัง โรงพยาบาลลาดกระบัง อาคารสำนักงานเขตลาดกระบังแห่งใหม่ ขอให้กรุงเทพมหานครเร่งตรวจสอบอาคารเหล่านี้ และขอถามทาง กทม.ว่าได้ทำ Root Cause Analysis หรือไม่ ทราบสาเหตุการถล่มของสะพานแล้วหรือยัง ทั้งนี้ การเกิดเหตุแบบนี้ต้องปิดสถานที่ทั้งหมด และให้หน่วยงานกลางที่ไม่ขึ้นกับ กทม.เข้ามาตรวจสอบ แต่ปัจจุบันพบว่าได้มีการตัดเหล็กออกเป็นชิ้น เพื่อเคลื่อนออกจากหน้างานแล้ว มีการเคลื่อนคอนกรีตเพื่อเปิดการจราจรในวันศุกร์นี้ (14 ก.ค.) 2. คำถามเรื่องของการเร่งเยียวยาผู้ประสบเหตุ ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ และผู้เสียชีวิต ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ครั้งนี้ สอบถามว่า บริษัทนี้มีการทำประกันไว้หรือไม่ เนื่องจากหากต้องรอเงินช่วยเหลือจากภาครัฐ ต้องใช้เวลานานมาก 3. คำถามสุดท้าย กทม.มีการตรวจสอบคุณภาพผู้รับเหมาหรือไม่ เนื่องจากผู้รับเหมารายนี้เป็นกิจการค้าร่วมทุน มีประสบการณ์ทำงานอย่างไรบ้าง เป็นคำถามที่ กทม.ต้องหาคำตอบ จริง ๆ แล้วตามหลักสากล เมื่อเกิดเหตุต้องมีวิศวกรภายนอกมาตรวจสอบหน้างาน เพื่อตรวจสอบสาเหตุ ด้วยเหตุทั้งหมดนี้จึงจำเป็นต้องมีการตั้งคณะกรรมการวิสามัญเพื่อศึกษา
“คุณภาพของผู้รับเหมาเป็นสิ่งสำคัญ เพราะเรื่องนี้เป็นเหตุสะเทือนขวัญมาก เราไม่ได้ทำดาวเทียมไปนอกโลก เราทำแค่ทางยกระดับที่ กทม.ทำมาหลายครั้งแล้ว ที่สำคัญคือ นายช่างเบอร์หนึ่งคือหน่วยงานของ กทม. หรือสำนักการโยธา ต่อไปผู้รับเหมาต้องหาที่มีความรับผิดชอบมากกว่านี้ หากต้องเร่งงาน มาตรฐานก็ต้องสูงขึ้นด้วย” ส.ก.สุรจิตต์ กล่าว
นายพีรพล กนกวลัย ส.ก.เขตพญาไท กล่าวว่า อยากให้กำหนดขอบเขตว่าโครงการที่จะศึกษามีขนาดเท่าใด เนื่องจากใน กทม.มีโครงการขนาดใหญ่จำนวนมาก เพื่อไม่ให้ซ้ำซ้อนกับภารกิจคณะกรรมการการโยธาและผังเมือง สภา กทม. โดยตรวจสอบความถูกต้องของสัญญา วัสดุอุปกรณ์ ผู้ทำงาน เชื่อว่าโครงการขนาดใหญ่ต้องมีวิศวกรเข้ามาดูแลการก่อสร้าง และบริษัทต้องเสนอชื่อวิศวกร โดยอาจกำหนดใน TOR อุบัติเหตุโครงการขนาดนี้เกิดขึ้นจากความประมาทเป็นส่วนใหญ่ จึงจำเป็นต้องให้ผู้มีความรู้ความสามารถจริง ๆ เข้ามาดำเนินการ และให้ได้แนวทางการดำเนินการในอนาคตที่สามารถนำมาใช้ได้จริง รวมทั้งให้ส่วนราชการที่รับผิดชอบต้องตระหนักถึงความสำคัญ
นายสุทธิชัย วีรกุลสุนทร ส.ก.เขตจอมทอง กล่าวว่า จากการลงพื้นที่จริงร่วมกับคณะกรรมการการโยธาและผังเมือง ซึ่งได้เคยอภิปรายเรื่องความล่าช้าของโครงการขนาดใหญ่ต่าง ๆ ตั้งแต่เป็น ส.ก.มา ยังไม่เคยเห็นโครงการขนาดใหญ่ถล่มแบบนี้มาก่อน ต้องถามคณะกรรมการตรวจรับได้ดูแลใกล้ชิดหรือไม่ และ กทม.ได้มีการจัดสรรงบประมาณเพื่อหารถเครนสำหรับใช้ในกรณีเช่นนี้หรือไม่ มีการจ้างที่ปรึกษาโครงการนี้หรือไม่
ด้านนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า จากการสอบถามพบว่าผู้รับเหมาขอเปลี่ยนรูปแบบการก่อสร้าง เพื่อให้ทำงานได้เร็วขึ้น ซึ่งเป็นเหตุผลทางวิศวกรรม วิธีนี้เป็นวิธีการที่ใช้อยู่ทั่วไป เนื่องจากเรื่องนี้ต้องมีผู้รับผิดชอบ เราต้องหาสาเหตุว่าเกิดจากอะไร โดยหาด้วยความระมัดระวัง โดยผู้เชี่ยวชาญที่เป็นกลาง เพราะอาจมีผลทางคดี เรื่องรถเครน ผู้รับจ้างต้องดำเนินการ เพราะคนขับรถเครนต้องเป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญ ในส่วนของ กทม.จะดูแลผู้ประสบภัยและดูแลการกู้ชีพ หาก กทม.มีรถเครนเอง ต้องมีผู้เชี่ยวชาญในการขับ อย่างไรก็ดี จะรับข้อสังเกตของ ส.ก. เกี่ยวกับการจัดหารถเครนต่อไป และเน้นย้ำเรื่องความปลอดภัยในการเคลื่อนย้ายให้มากขึ้น ซึ่งยินดีรับข้อสังเกตของ ส.ก.ไปพิจารณาให้ถี่ถ้วนด้วย และการตั้งคณะกรรมการวิสามัญจะช่วยให้เราทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
รศ.วิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ขณะเกิดเหตุอาจมีคำถามว่าทำไมล่าช้า ตามกระบวนการมีผู้ตรวจสอบอิสระจากวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ (วสท.) มาลงพื้นที่ในคืนนั้นเลย เพื่อประเมินสถานการณ์ และตรวจสอบความปลอดภัยในการเข้าพื้นที่ การเคลื่อนซากต่าง ๆ Launcher ที่ทำเลยเพราะผู้เชี่ยวชาญให้ความเห็นแล้วว่าไม่เกี่ยวกับเรื่องนี้ จึงต้องเคลื่อนออก เพื่อเปิดพื้นที่ให้ Investigator เข้าพื้นที่ได้ ซึ่งสาเหตุการเกิดเหตุขอให้รอ วสท. เป็นผู้ระบุ
รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงมาตรการเยียวยาในขณะนี้ว่า ตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง ระเบียบการจ่ายเงินสงเคราะห์ของ กทม. จะมีรายละเอียดค่าใช้จ่ายผู้เสียชีวิต ค่าจัดการศพ ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ ค่าปลอบขวัญ ค่าเสียหายสำหรับสถานประกอบการที่ไม่สามารถประกอบอาชีพได้อยู่แล้ว นอกจากนี้ยังมีกองทุนสงเคราะห์ผู้ประสบภัย และตัวแทนบริษัทประกันภัยของผู้รับเหมาได้เริ่มให้ความช่วยเหลือเรื่องค่าเช่าบ้านแล้ว
อย่างไรก็ตาม ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง ระเบียบการจ่ายเงินสงเคราะห์ พบว่าเป็นจำนวนที่น้อยจริง ๆ และข้อบัญญัติยังใช้เป็นระยะเวลานานแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการปรับปรุงข้อบัญญัติ และจะจัดส่งเพื่อให้สภาพิจารณาความเหมาะสมต่อไป สำหรับการลงทะเบียนผู้เสียหายนั้น ขณะนี้พบผู้เสียหายทั้งหมดแล้ว มีผู้จดแจ้งความเสียหายแล้ว 22 ราย ซึ่งเขตจะรับรองตามเงื่อนไข ในส่วนการเบิกจ่ายค่าเสียหายจะเร่งดำเนินการให้เร็วที่สุด สำหรับอัตราที่บริษัทจะจ่าย ขณะนี้ทราบเพียงค่าเช่าบ้านหลังละ 8,000 บาท แต่จะติดตามรายละเอียดให้ครบถ้วนต่อไป
ที่ประชุมสภากรุงเทพมหานคร มีมติเห็นชอบกับญัตตินี้ และให้ตั้งคณะกรรมการวิสามัญ จำนวน 17 ท่าน กำหนดระยะเวลาพิจารณาให้แล้วเสร็จ 90 วัน.-สำนักข่าวไทย